การเป็นสังคมสูงอายุทำให้นักกายภาพบำบัดเป็นบุคลากรด้านสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง เพราะรับผิดชอบโดยตรงต่อการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะของการเป็นผู้ป่วยติดเตียง การผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก
ปลายปีที่ผ่านมาวารสารกายภาพบำบัด ได้ตีพิมพ์บทความวิจัยที่ชื่อว่า “ความพึงพอใจของนายจ้างและผู้รับบริการต่อคุณภาพของนักกายภาพบำบัดที่สำเร็จการศึกษา พ.ศ.2559 – 2561 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งทีมนักวิชาการจากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โดย จตุพร สุทธิวงษ์ และคณะ จัดทำขึ้น เพื่อนำผลการวิจัยไปปรับปรุงและวางแผนหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะพึงประสงค์และตอบสนองความต้องการของตลาด
ทีมวิจัยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกสำรวจระดับความพึงพอใจของผู้รับบริการจากนักกายภาพบำบัด เลือกกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือระบบประสาท หรือระบบหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด หรือเป็นญาติของผู้ป่วยเด็กซึ่งได้รับการรักษาจากนักกายภาพบำบัดที่สำเร็จการศึกษาจากคณะกายภาพบำบัด มหิดล ช่วงปี 2559 -2561 เก๋บข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ และช่วงที่ 2 ศึกษาระดับความพึงพอใจของนายจ้างและลักษณะสำคัญของนักกายภาพบำบัดในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่นายจ้างพึงประสงค์ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงให้เป็นนายจ้างในสถานที่ทำงานที่มีนักกายภาพบำบัดที่สำเร็จการศึกษาตามรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วทำงานอยู่มากที่สุดและครอบคลุมสถานบริการหลายประเภท ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกกายภาพบำบัด ศูนย์กายภาพบำบัด และสถานให้บริการกายภาพบำบัดเฉพาะทาง เก็บข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม
ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้รับบริการพบว่ามีผู้ส่งแบบสอบถามกลับ 109 ราย ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจบุคลากรด้านการปฏิบัติตัวของนักกายภาพบำบัดต่อผู้รับบริการมากที่สุด และที่พึงพอใจน้อยที่สุดคือทักษะความรู้ ความสามารถและด้านการสื่อสาร เมื่อพิจารณารายละเอียดของทักษะความรู้ความสามารถที่พึงพอใจน้อยที่สุด พบว่าเป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายวัตถุประสงค์ของรักษาและแนวทางการรักษา และข้อที่นักกายภาพบำบัดสามารถอธิบายความรู้ในการดูแลตนเองและวิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือการบาดเจ็บได้อย่างชัดเจน สำหรับผลการศึกษากลุ่มนายจ้างพบว่านายจ้างมีความพึงพอใจในความรู้ของนักกายภาพบำบัดกลุ่มนี้ ทั้งความรู้ทางวิชาการ และด้านการประยุกต์ใช้ความรู้และการสะสมประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงความพอใจด้านทักษะความเชื่อมั่น การเป็นผู้นำ และทักษะการจ้างงาน
จากผลการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยได้พัฒนาข้อเสนอแนะว่าคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ควรปรับหลักสูตรโดยเพิ่มเนื้อหาเทคนิคการสื่อสารและการให้คำปรึกษา การฝึกสื่อสารและอธิบายความรู้ต่างๆ ให้ผู้ป่วย โดยจัดสถานการณ์จำลองให้แสดงบทบาทสมมติในห้องเรียน ฝึกการสื่อสารทั้งกับตัวผู้ป่วยและกับบุคลากรวิชาชีพอื่นที่ต้องทำงานประสานกันในระบบสุขภาพ รวมถึงควรต้องปรับการเรียนการสอนเพื่อสร้างนักกายภายที่สามารถออกแบบและพัฒนางานการทำสื่อที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพกายภาพบำบัด เพื่อให้วิชาชีพนี้มีความเด่นชัดขึ้นในสังคม และต้องเรียนรู้กระบวนการและฝึกปฏิบัติการสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับอนาคต
เรื่อง เพ็ญนภา หงษ์ทอง
หมายเหตุ “ความพึงพอใจของนายจ้างและผู้รับบริการต่อคุณภาพของนักกายภาพบำบัดที่สำเร็จการศึกษา พ.ศ.2559 – 2561 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล” โดย จตุพร สุทธิวงษ์, เวทสินี แก้วขันตี, รัชนก ไกรวงศ์ และมัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์ ตีพิมพ์ใน วารสารกายภาพบำบัด 2564; 43(3) หน้า 152 – 163 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://he02.tci-thaijo.org/index.php/tjpt/article/view/242657/173838