คำพร เกตุแก้ว 16 ปีชีวิต อสม. กับการรับมือ COVID 19

Home / บทความทั้งหมด / E-MAGAZINE / คำพร เกตุแก้ว 16 ปีชีวิต อสม. กับการรับมือ COVID 19
คำพร เกตุแก้ว 16 ปีชีวิต อสม. กับการรับมือ COVID 19

เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกแล้วว่า อสม. ของไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโควิด 19 สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ สนทนากับ คำพร เกตุแก้ว อสม. ตำบลจันดี อำเภอฉวาง นครศรีธรรมราช ผู้ได้รับดีเด่นระดับจังหวัด สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ จังหวัดนครศรีรรมราช ในปี 2555 ถึงการทำงานของ อสม. ในภาวะวิกฤติโควิด19

อยากให้เล่าที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นอสม.

ตอนนั้นปี 47 เพิ่งกลับไปอยู้บ้านได้ปีเดียว ผมเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ นานมาก เรียนแล้วก็ทำงานที่นั่นเลย พอช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ช่วงต้มยำกุ้งก็โดนให้ออกจากงาน พอดีเห็นประกาศสถาบันแพทย์แผนไทยของคุณหมอเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ เปิดสอนแพทย์แผนไทย ผมก็เลยไปเรียน 4 ปี ตั้งแต่ปี 42 – 46 เรียนจบผมได้ใบประกอบโรคศิลป์ด้านแพทย์แผนไทยด้วย ผมก็นวดเป็น รักษาแผนไทยได้ ทำสมุนไพรเป็น อยู่มาได้ปีหนึ่งตำแหน่ง อสม.ว่างลง คนที่เป็น อสม. อยู่ เขาเห็นเรามีความรู้ด้านงานสาธารณสุขก็เลยมาชวนให้เป็น อสม. ความที่เราเองก็อยู่กับระบบสุขภาพมาตลอด คือที่บ้านผมนี่แม่เป็นหมอตำแย น้าเป็นหมอกระดูก มีหมองูคือที่รักษาคนถูกงูกัด หมอดู หมอนวด ใจผมอยากเผยแพร่ภูมิปัญญาตรงนี้ อยากให้คนดูแลสุขภาพแบบโบราณเหมือนที่แม่ผมทำอยู่แล้ว เห็นช่องทางว่าถ้าเป็น อสม. เราน่าจะเผยแพร่ความรู้ตรงนี้ได้เลยเข้าไป

ตอนนั้นรู้ไหมว่า อสม. มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง

เอาจริงๆ คือไม่รู้ เพราะผมไม่ได้อยู่บ้านนาน เหมือนที่บอกผมเพิ่งกลับมาอยู่บ้านได้ปีเดียว มารู้ว่า อสม. ต้องทำอะไรบ้างก็ตอนที่ไปอบรมแล้ว และผมก็ชอบนะ ได้เจอเพื่อนเยอะ ผมชอบมีเพื่อน ได้ความรู้ใหม่ๆ เพราะความรู้ด้านสุขภาพนี่ผมมีแต่วิธีโบราณเลย พอมาอบรมเราก็ได้ความรู้ใหม่ๆ เราสังเกตได้ว่าคนเป็นเบาหวาน เป็นความดันจะมีลักษณะอย่างไร เราก็เอามาประยุกต์ใช้ได้

พอเป็น อสม. แล้วต้องทำอะไรบ้าง

ตอนนั้นหน้าที่หลักเลยก็แจ้งข่าวร้ายกระจายข่าวดี เป็นผู้ช่วยหมออนามัย แล้วแต่ว่าหมอเขาสั่งอะไรมาก็ทำ

แล้วได้เอาความรู้ด้านแพทย์แผนไทยหรือการดูแลสุขภาพตามวิธีคนโบราณไปเผยแพร่ได้อย่างที่อยากทำไหม

ได้นะครับ มันมีช่องทางให้เราได้เอาความรู้ของเราไปเผยแพร่ ส่วนใหญ่จะเป็นตอนประชุมประจำเดือน สมมติไข้เลือดออกระบาด หมอก็สั่งมาว่าให้เราไปบอกชาวบ้านว่าต้องคว่ำถ้วย คว่ำจาน อย่าให้มีที่ที่น้ำขังได้ ตรงไหนน้ำขังก็เอาทรายอะเบทไปใส่ เอาเกลือไปใส่ อยู่ในบ้านก็ต้องระวังอย่าให้ยุงกัด ใครมีไข้ มีตุ่มให้แจ้ง อสม. นะ ตอนประชุมผมก็จะคอยบอกเขาว่า เออ ผมเคยเห็นตอนพ่อเลี้ยงวัวชน เขาเอาตะไคร้หอมมาสุมไฟไล่ยุงให้วัวนะ คุณรู้จักวัวชนไหม แถวนี้เขาเลี้ยงกัน แล้วคนเลี้ยงก็จะรักวัวชนมาก ตัวหนึ่งมันหลายตังค์ สมัยนี้ตัวสวยๆ ก็หลักล้านเลยนะ เขากลัวยุงกัดวัว เขาก็จะจุดไฟเอาตะไคร้หอมไปสุมให้เกิดควันจะได้ไล่ยุง ผมเล่าแล้วผมมีตัวอย่างไปให้เขาด้วย ที่บ้านผมมีไง เขาก็เอาไปเผยแพร่ต่อ ทีนี่ผมมีความรู้ด้วยผมสกัดสารจำตะไคร้หอมได้แต่ผมไม่มีทุน สาธารณสุขก็จะคอยสนับสนุน หาแอลกอฮอล์มาให้ หรือถ้ามีทุนหน่อยก็ซื้อขวดเสเปรย์มาใส่ เอาไปแจกชาวบ้านต่อ ต่อมาเขาก็เริ่มให้ผมเป็นครู อบรมพวกสมุนไพรให้ อสม. ด้วยกันเอง ต่อมา สปสช. ก็เข้ามา กองทุนของเทศบาลก็เข้ามา คืออะไรที่เป็นเรื่องของแพทยืพื้นบ้าน ภูมิปัญญาดั้งเดิมมันจะผ่านมาทางผมหมดเลย

 

ผมเลยมองว่าการเป็น อสม. มันเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ได้

ผมก็ได้เรียนรู้การดูแลสุขภาพสมัยใหม่ ที่ผม่ไม่เคยรู้

ขณะเดียวกันก็ได้เอาวิธีดูแลสุขภาพแบบโบราณที่เรามีไปแลกเปลี่ยนสอนเขา

 

อสม. ได้รับการยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน อสม. ต้องวัดความดัน เช็คเบาหวาน เตือนนัด พาไปหาหมอ มีเด็กคลอดใหม่ ต้องตามไปหยอดวัคซีน หน้าไข้วัดระบาดต้องไปดูแลเรื่องการฉีดวัคซีน เป็นตัวเชื่อม คนให้ความเชื่อถือ เพราะ อสม. คือผู้ให้ คอยดูแลเรื่องสุขภาพในทุกเรื่อง ทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่ด้านสุขภาพแล้วนะ อสม. ทำทุกอย่าง จปฐ. ก็ทำ หน่วยงานไหนจะสำรวจข้อมูลอะไรในชุมชน ก็ อสม. ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ งานมาที่ อสม. หมดเลย จนเราไม่ค่อยมีเวลาทำงานที่เป็นงาน อสม. จริงๆ แล้ว  พอเราทำไม่ไหวมันก็มีเสียงมาว่าได้เงินเดือนเดือนแล้วทำไมไม่ทำให้เต็มที่ เงิน 600 บาท ที่รัฐให้ ตอนนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งพันแล้ว นั่นไม่ใช่เงินเดือนนะครับ มันคือค่ารถ ค่าเดินทาง อสม. ทำงานด้วยใจ เราเป็นจิตอาสา

ตั้งแต่เป็น อสม. ภารกิจไหนที่ทำยากสุด ท้าทายสุด

โควิด 19 ตอนนี้เลยครับ งานหนักสุดแล้ว สมัยก่อนช่องทางการรับรู้ข่าวสารมันไม่มากเท่านี้ สมัยไข้หวัดนก หรือซาร์ ชาวบ้านยังรับข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุโทรทัศน์เป็นหลัก ความรู้สุขภาพที่ลงไปถึงชาวบ้านก็ยังมาจากทาง อสม. หรือฝ่ายสาธารณสุขอย่างเดียว ชาวบ้านจะทำอะไรนี่ต้องรอฟัง อสม. รอสาธารณสุขลงไปแจ้ง งานจะไม่หนักเท่านี้ สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ข่าวมันมาทุกทางเฟซบุ๊ก ไลนืเต็มไปหมด แล้วมันมีทั้งข่าวจริงข่าวปลอม เราต้องคอยตามไปอธิบายว่าอันไหนมันปลอม อันไหนมันจริง และมันก็มีความรู้ใหม่ๆ ที่ชาวบ้านได้ยินแต่ไม่รู้ เช่น ช่วงหนึ่งที่รณรงค์จากช้อนกลางให้เปลี่ยนเป็นช้อนกู ชาวบ้านก็จะมาถามเราว่าอะไรคือช้อนกู เราก็ต้องไปหาความรู้มานั่งอธิบาย ข้อดีของการที่ข่าวสารเยอะคือมันทำให้เราทำงานเชิงรุกได้ เมื่อก่อนเรานั่งรอสาธารณสุขอย่างเดียว เขาว่าอะไรก็ว่าไปตาม เราไม่มีข้อมูลอื่น ตอนโควิดนี่ ที่จันดีเราทำหน้ากากผ้ากับเฟซชิลด์ก่อนที่ฝ่ายสาธารณสุขจะมาบอก เขาก็เห็นจากในเฟซบุ๊ค ก็ทำกันไปง่ายๆ บางคนเอาหมวกกันน็อคมาใส่เดิน หรือบางคนเอาขวดเป๊ปซี่ใสๆ มาตัดมาประยุกต์ใส่เอง ชาวบ้านบอกว่ากลัวตาย เราเห็นเลยว่าชาวบ้านตื่นตัว แต่เราก็ต้องทำงานหนักขึ้น ตอนหลัง สปสช. มีงบมาให้ทำแอลกอฮอล์ ทำหน้ากากอนามัยเราก็ทำไปแจก และก็ไปสอนชาวบ้านทำด้วย

อยากให้พี่เล่าถึงการทำงานของ อสม. จันดี ในช่วงโควิด

เราตั้งเวรกัน ทำงานทุกวัน ที่จันดีมี อสม. ประมาณร้อยคน เราเปิดจุดคัดกรอง 5 จุด มีตำรวจ มีท้องถิ่น และท้องที่เข้ามาร่วมด้วย คอยวัดอุณหภูมิ  อีกกลุ่มหนึ่งคอยเดินในชุมชน ถือป้ายประชาสัมพันธ์ ไปตาตลอด ตามย่านชุมชน พยายามสร้างให้เกิดความตระหนักว่า คนขายไม่ใส่หน้ากากเราไม่ซื้อ คนซื้อไม่ใส่หน้ากากเราไม่ขาย มีหลายครั้งที่เราเจอคนไม่ใส่ เราก็เข้าไปถามทำไมไม่ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนใหญ่จะบอกว่าอึดอัดหายใจไม่ออก เราก็จะถามเขาว่าจะอึดอัดตอนนี้ หรือจะไปอึดอัดหายใจไม่ออกที่โรงพยาบาล หรือจะไปไม่หายใจเลยในโลงดี เขาก็จะกลัวแล้วก็ใส่ เราต้องเป้าว่าจันดีต้องเป็นเขตใส่หน้ากากอนามัย 100%

ที่จันดีของเรามีผีน้อยจากเกาหลีด้วยนะ 1 คน เรารู้ก็ไปชี้แจงเขาเรื่องการกักตัว การรักษาระยะห่างจากสังคม เขายืนยันว่าเขาไม่ติด ผ่านสถานทูตมาแล้ว ผ่านสนามบินมาแล้ว เราก็รายงานต่อไปที่ รพ.สต. รพ.สต. ก็รายงานต่อไปที่ สสอ. ซึ่ง สสอง ก็รายงานต่อปยังอำเภอ ส่งรายงานต่อไปจังหวัด ระหว่างนั้นเขาใช้ชีวิตตามปกติ แต่คนก็รู้ ไปซื้อของที่ไหนก็ไม่มีคนขายให้ คนเขาก็กลัวกันทั้งนั้น ชาวบ้านกลัวเขา สังคมกลัวเขา มองเขาเป็นตัวประหลาดแต่เขาไม่รู้ตัว มองแต่ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของตัวเอง แล้วเราก็เอากฎหมายมาบังคับอีก มันไม่ใช่แค่ อสม. แต่มันมีกระบวนการทั้งทางสังคมและทางกฎหมายที่ทำให้เขาต้องยอมรับ  เขารู้เองว่าสุดท้ายเขาต้องยอมรับกติกานี้ เพราะจะไม่มีใครยอมรับเขา สุดท้ายเขาก็ยอมไปกักตัวที่โรงพยาบาลอยู่จนครบ 14 วัน ออกมาไม่เป็นอะไร คนในสังคมก็ให้การยอมรับ

จากภูเก็ตก็เหมือนกัน มันเป็นพื้นที่เสี่ยงใช่ไหม คนนครที่ไปทำงานที่ภูเก็ตตอนนั้นแจ้งว่าจะกลับบ้านประมาณ 3-4 พันคน เป็นคนจันดี 7 คน ตอนนั้นเราเตรียมสถานที่ไว้แล้ว เทศบาลเตรียมศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลไว้เป้นที่กักตัวเลย แล้วย้ายศูนย์ไปให้บริการที่อื่นก่อน

 

แต่พอเขามาถึงเขาก็บอกว่าเขากักตัวที่ภูเก็ตกันมาแล้วเป็นเดือนเลย ถ้าติดติดไปนานแล้ว

แต่นี่เขาออกจากพื้นที่มาได้ แล้วยังต้องมาโดนกักที่นี่อีกหรือ

ตอนนั้นเราใช้มาตรการทางสังคมก็ยืนยันว่าต้องกักตัว เขาก็ไม่พอใจ

‘มึงมาเสือกกับครอบครัวกูทำไม ก็ไม่ได้เป็นอะไร ก็จะมาอยู่กับครอบครัวกูมึงมายุ่งทำไม”

 

เราก็อธิบายเขาว่าเขาไม่ได้เป็นอาชญากร ไม่ได้เป็นอะไร ไม่มียาต้องกิน แต่ระวังนะโควิดนี่มันมีส่วนผสมของเชื้อเอดส์ด้วย ตอนนั้นเราต้องบอกให้เขากลัวไว้ก่อน ทำเขาเห็นว่าไอ้ความรักลูกรักเมีย อยากกอดลูกกอดเมียนี่จะกลายเป็นการเอาความตายมาให้เขา  บางเคสตอนมาถึงชุมชนใหม่ๆ นี่ต้องมีทั้งนายอำเภอ มีตำรวจ ผู้กำกับนี่ต้องมาเองเลย เคสผีน้อยนี่มี ตม. มาด้วย สุดท้ายทุกคนก็ยอมไปกักตัว

โควิดนี่เป็นการทำงานที่แปลกที่สุดแล้ว และก็ทำงานกันหนักมาก ช่วงนี้นี่ในชุมชนจะมีงานอะไรที่มันเกี่ยวกับประเพณี งานศพ งานบวชนี่ ต้องมี อสม. ไปดูแลโดยอัตโนมัติเลยนะ ไปจดชื่อคนที่มางาน จดบ้านเลขที่ เบอร์ติดต่อ งานศพนี่บังคับเลยว่าต้องมีทางเข้าออกทางเดียว ต้องจัดงานแบบรักษาระยะห่างด้วย เราต้องไปอธิบายชี้แจงให้เข้าใจตลอด จนบางทีเขาก็ถามประชดเลยว่าจะกินข้าวนี่ต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วยไหม คือเราเข้าไปยุ่งกับชีวิตประจำวันเขาทุกเรื่องแล้วแต่มันต้องทำ

การทำงานของ อสม.ในปัจจุบันต่างกับการทำงานในอดีตอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เทคโนโลยีการสื่อสารมันไปไกล นี่เขาเพิ่งให้เราใช้แอพ อสม. 4.0 เพิ่งเริ่มใช้กันมาได้ 2-3 เดือน ใช้รายงานข่าว รายงานกิจกรรม สมมติเราลงไปดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง มีปัญหา ไม่เข้าใจอะไรเราเปิด วิดีโอคอล ถ่ายรูป ถามกับ รพ.สต. ได้โดยตรงทันที สื่อสารกันได้ทันที แล้วก็ตรวจสอบกันได้ สมัยก่อนทำงานตามคำสั่ง ทำงาตามเอกสาร หัวหน้าอนามัยส่งเอกสารมาให้ปึกหนึ่งให้เราคัดกรองคนที่เป็นความดัน ไปดูว่ากินอาหารครบ 5 หมู่ไหม เอกสารมันก็จะให้เราติ๊กๆ เราก็ไปถาม แต่จริงๆ มันก็มีนั่งเทียนบ้าง มันมีจริงๆ นะ ทำให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ข้างบนก็เอาข้อมูลของข้างล่างที่ไม่ถูกต้องไปวิเคราะห์ สุดท้ายกันก็เกาไม่ถูกที่คัน มันธรรมดานะในชุมชนหนึ่ง ในประเทศหนึ่งมันมีทั้งคนดี คนไม่ดีอยู่แล้ว

เทคโนโลยีไอทีมันเปลี่ยนบทบาทของ อสม. ไปเลย จากเดิมเราเป็นแค่ผู้นำสาร แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี แต่ตอนนี้เรามีปฏิสัมพันธ์ได้ สมัยก่อนเราทำงานตามเอกสาร ตามคำสั่ง สั่งให้ทำอะไรก็ทำแค่นั้น เพราะความรู้มันไม่มาก และเราก็ไม่มีช่องทางอื่นหาความรู้นอกจากรอฟังรับ หรือจากการอบรม เดี๋ยวนี้ความรู้มันมีทั่วไป เราก็ทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น ไม่ต้องนั่งรอสาธารณสุขอย่างเดียว อสม.ก็มีไลน์กลุ่มของเราเอง สื่อสารกันตลอด

คิดว่าจะเป็น อสม. ไปอีกนานไหม

ทำไปจนกว่าจะทำไม่ได้ เราต้องรู้ตัวว่าทำได้แค่ไหน หากถึงวันที่เราทำงานไม่ได้ก็จะลาออกไปเป็น อสม. สมทบ เพราะหากเรายังเป็น อสม. แต่ไม่ได้ทำงานก็จะถูกนินทาว่าไม่ทำงานแต่รับค่าตอบแทน มันมีคนที่มองว่าเงินหนึ่งพันที่รัฐให้คือเงินเดือน แล้ว อสม. เขาไม่มีการกำหนดอายุ สามารถทำไปจนวันตายได้นอกจากเราจะลาออกเอง พอมีเงินจากรัฐให้บางคนที่ทำไม่ไหวก็จะไม่ลาออก ถ้าเป็นคนที่ทำงานมานานๆ คนก็จะไม่ว่าอะไรเพราะมองว่าเขาดูแลเรามานานแล้ว ทำงานหนักมานานก็ควรมีเงินเลี้ยงดูเขาต่อไป แต่ผมว่ามันไม่ใช่ หากทำไม่ไหวก็ควรต้องลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็น อสม. ให้มากขึ้น อย่างต่อนนี้โลกเราไปถึงขั้นที่ไม่มีเงินบาท เงินดอลลาร์แล้ว มีแต่เงินดิจิทัล ใช้จ่ายผ่านการโอน มันยิ่งต้องการ อสม.ที่เป็นคนรุ่นใหม่  ตอนนี้เราเริ่มเห็นคนที่จบปริญญาตรีเข้ามาเป็น อสม. กันมากขึ้น

ผมมองว่า อสม. ยังจำเป็นสำหรับระบบสุขภาพของเรา เพราะ อสม. คือแพทย์ปฐมภูมิของชุมชน อสม. คือตัวแทนของชุมชน โควิดเที่ยวนี้ถ้าไม่มี อสม. ประเทสไทยจบเลยนะ เพราะระบบวางไว้ดีมากให้เราเป็นฐานของชุมชน จึงควรต้องมีต่อไป แต่ก็ต้องมีการกำหนดการพัฒนาด้วยว่าจะพัฒนาพวกเราไปในรูปแบบไหน