คิวบา จนเงินแต่ไม่จนหมอ

Home / บทความทั้งหมด / E-MAGAZINE / คิวบา จนเงินแต่ไม่จนหมอ
คิวบา จนเงินแต่ไม่จนหมอ

หากใครติดตามข่าวตอนที่รัฐนิวออร์ลีนส์ของสหรัฐถูกถล่มโดยเฮอร์ริเคนแคทรีนา อาจจะได้เห็นข่าวเล็กๆ ที่ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบาให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมจะส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือสหรัฐหากมีการร้องขอมา โดยบอกว่าตนเองได้สั่งให้ทีมแพทย์พร้อมอุปกรณ์เก็บข้าวของรอแล้วพร้อมที่จะเดินทางทันที

ซึ่งแน่นอนว่าทั้งในทางอุดมการณ์ทางการเมืองและศักดิ์ศรีของความเป็นมหาอำนาจแล้ว ประธานาธิบดีจอร์ช บุช แห่งสหรัฐไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของคาสโตรเลย หมอของประเทศคอมมิวนิสต์จนๆ อย่างคิวบาจึงไม่ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยชาติในประเทศประชาธิปไตยที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐ

หากมองเผินๆ แล้วข้อเสนอของคาสโตรอาจจะให้อารมณ์ความรู้สึกของการเสียดสีสหรัฐในทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดและความเป็นจริงของสังคมคิวบาแล้ว ข้อเสนอนั้นไม่ว่าจะเกิดจากพื้นฐานคิดใดของคาสโตร แต่มันเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเพราะคิวบาแม้จะเป็นประเทศที่ยากจน แต่ก็มีจำนวนหมอต่อประชากรของประเทศสูงที่สุดในโลก

ปลายปีที่ผ่านมาองค์กรไม่แสวงผลกำไรองค์กรหนึ่งมีชื่อว่า Doctors of the World ซึ่งตั้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ได้ตีพิมพ์โปสเตอร์แผ่นหนึ่งเพื่อแสดงอัตราส่วนจำนวนหมอต่อประชากรของประเทศต่างๆ ในโลก โดยนำตัวเลขของแต่ละประเทศมาใส่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศนั้นๆ จนทำให้เราได้เห็นหน้าตาที่แท้จริงของกำลังคนด้านสุขภาพของโลกเราได้ชัดเจนว่า จำนวนของหมอของแต่ละประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น

ตัวเลขของแผนที่หมอของโลกของ Doctors of the World แสดงให้เห็นว่าทุกๆ 170 คนของประชากรในคิวบาจะมีหมอ 1 คน เป็นอัตราส่วนประชากรหมอต่อประชากรทั้งหมดของประเทศที่หนาแน่นที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาความหนาแน่นของประชากรหมออยู่ที่หมอ 1 คนต่อประชากร 390 คน สำหรับประเทศไทยตัวเลขอยู่ที่ 1: 2,700 ซึ่งเป็นจำนวนของหมอต่อประชากรน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เราถือว่ายากจนกว่าเราอย่างลาว (1: 1,700) หรือ เวียดนาม (1: 1,900)

แม้ Doctors of the World จะไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาของตัวเลขที่ถูกนำมาจัดแสดงใหม่ในรูปของแผนที่โลก แต่เมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับสถิติกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เก็บรวบรวมโดยองค์การอนามัยโลกแล้วจะพบว่าฐานของตัวเลขมีความใกล้เคียงกัน

จากฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าในปี 2547 คิวบามีประชากรหมอทั้งสิ้น 66,567 คน ซึ่งคิดเป็น 5.91 ต่อประชากรทุกๆ 1,000 คน (องค์การอนามัยโลกแสดงอัตราส่วนต่อประชากร 1,000 คน) ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณรายหัวประชากรจะได้ตัวเลขใกล้เคียงกับที่ Doctors of the World นำเสนอมา ในส่วนของสหัรฐองค์การอนามัยโลกบันทึกไว้ว่าในปี 2543 สหรัฐมีประชากรหมอรวมทั้งสิ้น 730,801 คน คิดเป็น 2.56 ต่อประชากรทุกๆ 1,000 คน

หลังประสบชัยชนะในการปฏิวัติประเทศปลายทศวรรษที่ 50 ฟิเดล คาสโตร ให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพของประเทศ โดยเขาถือเป็นภาระกิจสำคัญของนักปฏิวัติเลยทีเดียว คาสโตรทุ่มเทการลงทุนในการผลิตกำลังคนสุขภาพโดยเฉพาะหมอและพยาบาลเพื่อให้รองรับนโยบายการปฏิวัติทางการแพทย์และวางรากฐานนโยบายหลักประกันสุขภาพของเขา ผลก็คือประชากรหมอของคิวบาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการขยายตัวของหลักประกันสุขภาพ ว่ากันว่าที่คิวบาหมอมากจนเกินกว่าความต้องการที่มีจนในทุกๆ สาขาวิชาชีพรวมทั้งคนขับแท็กซี่ต่างก็มีคนเรียนจบหมอมาทั้งนั้น ตลาดงานที่สำคัญของหมอชาวคิวบาจึงอยู่นอกประเทศ

ในบทความที่เขียนให้กับ New England Journal of Medicine ฉบับเดือนธันวาคม 2547 นพ. Fitzhugh Mullan ระบุว่านับจากปี 2541 เป็นต้นมา คิวบาได้ส่งออกแพทย์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกซึ่งจนถึงปี 2547 พบว่ามีหมอชาวคิวบามากถึง 7,150 คนทำงานอยู่ใน 27 ประเทศ ซึ่ง Mullan บอกว่าเมื่อเทียบกับอัตราส่วนจำนวนประชากรแล้วสหรัฐจะต้องส่งออกหมอไปทำงานยังต่างประเทศให้ได้ถึง 175,000 คนทีเดียวจึงจะเท่ากับจำนวนหมอ 7,150 คนของคิวบา ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่ร่ำรวยอย่างอเมริกาไม่สามารถผลิตหมอเพื่อส่งออกได้มากขนาดนั้น

ศักยภาพด้านการแพทย์ของคิวบานอกจากจะแสดงให้เห็นผ่านทางจำนวนหมอแล้วยังเป็นเรื่องของการเรียนการสอนแพทย์ด้วย ที่คิวบาไม่มีปัญหาเรื่องนักศึกษายากจนไม่สามารถเข้าเรียนแพทย์ได้ หรือปัญหาเรื่องการกีดกันคนกลุ่มน้อยไม่ให้เข้าเรียนแพทย์ ในสังคมคิวบาโรงเรียนแพทย์เป็นสถานที่เปิดประตูต้อนรับนักศึกษาทุกคนตราบที่พวกเขามีแนวคิดทางการเมืองไม่ต่างจากท่านผู้นำ เหตุผลเดียวที่จะทำให้หนุ่มสาวชาวคิวบาไม่สามารถเข้าเรียนแพทย์ได้ (กรณีที่สอบผ่าน) คือเมื่อพวกเขามีแนวคิดทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย ขัดแย้งกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดีขณะที่ปิดกั้นคนของตัวเองที่มีความคิดประชาธิปไตย คาสโตรกลับเปิดกว้างต้อนรับนักศึกษาอเมริกันที่ถูกกีดกันจากระบบทุนนิยมไม่ให้เข้าศึกษาต่อในโรงรียนแพทย์ของอเมริกาเองเพราะฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาไม่เอื้ออำนวยให้เรียนแพทย์ได้

Mullan ได้อ้างไว้ในบทความของเขาว่าคาสโตรได้เปิดประตูโรงเรียน Latin American School of Medicine ในฮาวานาต้อนรับนักศึกษาจากต่างประเทศให้มาเรียนแพทย์ฟรี โดยแม้ข้อแม้ว่าเมื่อเรียนจบนักศึกษาเหล่านั้นต้องกลับไปเป็นแพทย์รับใช้คนจนในประเทศของตนเอง Mullan บอกว่ามีนักศึกษาจาก 27 ประเทศเป็นนักเรียนทุนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยมี 88 คน เป็นนักเรียนอเมริกัน แน่นอนว่าพวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี หรือมีเชื้อสายของชนพื้นเมืองในอเมริกา ทุกๆ ปีคาสโตรจะหาทางโหมกระหน่ำประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาของ Latin American School of Medicine ให้กับนักเรียนชาวอเมริกันฟัง ด้วยความหวสังว่าจำนวนนักศึกษาอเมริกันที่มาเรียนแพทย์ในคิวบาจะเพิ่มขึ้น

ไม่ว่าคาสโตรจะดำเนินนโยบายดังกล่าวด้วยเหตุผลใด สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ชัดก็คือคิวบาประเทศคอมมิวนิสต์เล็กๆ ออกไปทางยากจนกำลังผลิตแพทย์ให้กับประเทศที่ร่ำรวยอย่างอเมริกา และนี่ย่อมเป็นหลักฐานชัดเจนว่าฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่อุปสรรคในการผลิตแพทย์ ส่วนการที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่ยังมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์อยู่ก็คงเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะต้องมาพิจารณากันเองว่าเกิดขึ้นเนื่องจากอุปสรรคใด

มองรอบโลก โดยแม่พลอย

เผยแพร่ครั้งแรก ผีเสื้อขยับปีก เล่มที่ 3