งานวิจัย ปี 2561
การจัดการกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ และระบบสุขภาพระดับอำเภอของประเทศไทย
งานศึกษาเพื่อถอดบทเรียนหาปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพระดับอำเภอ ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงของ จ. เชียงราย, อ.นครไทย จ,พิษณุโลก, อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี, อ.นาหว้า จ. นครพนม, อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ. สงขลา ซึ่งต่างต้องประสบปัญหาหลายอย่างเช่น ความไม่เป็นหนึ่งเดียวของระบบ ปัญหากำลังคนทั้งการขาดแคลน การกระจายตัว และทักษะในการทำงาน เป็นต้น แต่กลับสามารถดำเนินกิจกรรมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพระดับอำเภอได้อย่างเข้มแข็ง โดยพบว่าปัจจัยความสำเร็จเกิดจากตัวผู้นำ ที่สามารถสร้างยุทธศาสตร์ในการทำงานให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายได้ มีการบริหารการเงินที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการสร้างทีมงานผู้นำรุ่น 2 เพื่อทำงานขับเคลื่อน และมีการทำงานในรูปแบบเครือข่ายทั้งแนวตั้งและแนวราบ
นงลักษณ์ พะไกยะ
เพ็ญนภา หงษ์ทอง
พัชรี เพชรทองหยก
กานต์วรินต์ ก่องกุลวัฒน์
ความต้องการกำลังคนวิชาชีพสาธารณสุขของประเทศไทยในปี พ.ศ.2569
วิชาชีพสาธารณสุขเป็นกำลังคนหลักด้านหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพ ปัจจุบันกำลังคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รองลงมาเป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลชุมชน
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์กำลังคนด้านวิชาชีพสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2569 โดยศึกษาคาดการณ์ความต้องการ (demand projection) และการคาดการณ์อุปทาน (supply projection) ซึ่งวิธีการคาดการณ์ความต้องการใช้ health demand approach คิดเฉพาะภาคให้บริการ (service setting) และอัตราส่วนต่อประชากร (population ratio) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการวางแผนพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพสาธารณสุข
ผลการศึกษาพบว่าหากยังคงศักยภาพการผลิตกำลังคนด้านนี้เท่าปัจจุบัน กำลังคนจะเกินความต้องการของระบบบริการสุขภาพ งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอแนะว่า สภาการสาธารณสุขชุมชนจะต้องกำหนดมาตรฐานและสมรรถนะหลักของกำลังคนกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพในทศวรรษหน้า รวมทั้งควรมีการวางแผนความต้องการกำลังคนด้านวิชาชีพสาธารณสุขร่วมกันระหว่างสถานบริการสุขภาพและผู้ผลิตบัณฑิต เพื่อไม่ให้ผลิตบัณฑิตเกินความต้องการของระบบบริการสุขภาพในอนาคต
คำสำคัญ: การคาดการณ์ความต้องการกำลังคน, วิชาชีพสาธารณสุข, การคาดการณ์อุปทานกำลังคน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
โครงการศึกษารูปแบบการจ้างงานแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ในภาครัฐของประเทศไทยในระยะ 15 ปีข้างหน้า
งานวิจัยที่จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาสถานการณ์และรูปแบบการจ้างงานบุคลากรสุขภาพในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ใช้เครื่องมือการวิจัยทางทั้งปริมาณและคุณภาพเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ ความท้าทายและข้อเสนอแนะสำหรับกำหนดรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงแนวโน้มการคงอยู่ในภาครัฐ และภาระงบประมาณเงินเดือนสำหรับการจ้างงาน 4 วิชาชีพหลัก ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ในรูปแบบต่างๆ ในระยะ 15 ปี การศึกษานี้ได้ผลิตข้อเสนอแนะ 3 ประการ 1. การยกเลิกการจ้างงานรูปแบบข้าราชการควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป 2. กระทรวงสาธารณสุขควรปรับบทบาทของตน เน้นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการด้านกำลังคน เพิ่มความยืดหยุ่นให้หน่วยบริการ 3. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงสาธารณสุขควรร่วมกันวางแผนจัดการกำลังคนด้านสุขภาพทั้งระบบ โดยคำนึงถึงการคงอยู่ของบุคลากรสุขภาพในระยะยาว ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน และความยั่งยืนของงบประมาณ
โดย กฤษดา แสวงดี และคณะ
คำสำคัญ: การจ้างงาน บุคลากรสุขภาพ ข้าราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข
แรงจูงใจที่ไม่ใช่เงินที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ในสถานบริการสุขภาพภาครัฐของแพทย์ใน 8 จังหวัดของประเทศไทย
ศึกษาแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงินที่ส่งผลถึงการดำรงอยู่ของบุคลากรด้านสุขภาพในสถานบริการสุขภาพของภาครัฐ ป็นการศึกษาที่ใช้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิของการเคลื่อนย้ายแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 ผลการวิจัยพบว่าแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงิน (nom-financial incentive) มีความสัมพันธ์กับการคงอยู่ของแพทย์ในชนบทอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ และความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความแตกต่างกันในระหว่างกลุ่มแพทย์ที่มีอายุการทำงาน้อยกว่า 3 ปี และกลุ่มแพทย์ที่มีอายุการทำงานมากกว่า 3 ปี ซึ่งแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงินเหล่านี้สามารถบริหารจัดการให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลต่างๆ ได้ และกระทรวงสาธารณสุขควรต้องดำเนินการผลักดันให้มีการพัฒนาระบบแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงินในโรงพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนต่อไป
คำสำคัญ: แรงจูงใจที่ไม่ใช่เงิน, การคงอยู่, สถานบริการสุขภาพภาครัฐ, การบริหารบุคคล, แพทย์, โรงพยาบาลชุมชน
การศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster: PCC)
การศึกษาต้นทุนในการจัดบริการคลินิกหมอครอบครัว, ต้นทุนต่อหัวประชากรของคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมบริการทั้งหมดของกลุ่มเครือข่ายบริการปฐมภูมิทั้งในสถานบริการและในชุมชน ทำการศึกษาโดยเก็บข้อมูลจากคลินิกหมอครอบครัวในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง แบ่งเป็นเขตเมือง 2 แห่ง เขตชนบท 2 แห่ง เก็บข้อมูลย้อนหลังในปี 2560 ประกอบด้วยข้อมูลบัญชีเกณฑ์คงค้างของบัญชีลูกข่ายของเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ (CUP) ข้อมูลการสนับสนุนจากบริการปฐมภูมิต่างๆ จากสถานบริการแม่ข่าย และข้อมูลกิจกรรมการจัดบริการปฐมภูมิต่างๆ การสำรวจข้อมูลภาระงานจำแนกตามกิจกรรมของบุคลากรในหน่วยบริการ (FTE per activity) และแบบสำรวจข้อมูลขนาดของพื้นที่และระยะเวลาการใช้งานของหน่วยงานต่างๆ ผลการศึกษาพบว่าภาพรวมของต้นทุนคลินิกหมอครอบครัวส่วนใหญ่เป็นค่าแรง รองลงมาเป็นต้นทุนค่าวัสดุ ต้นทุนค่าลงทุนมีสัดส่วนน้อยกว่าต้นทุนอื่นๆ มีจุดสังเกตว่า PCC เขตเมองจะมีต้นทุนสูงกว่าที่อยู่ในเขตชนบท
คำสำคัญ: คลินิกหมอครอบครัว, Primary Care Cluster (PCC), ต้นทุนการดำเนินงาน, FTE