จักร โกศัลยวัตร: ประเทศนี้ต้องการ solution ด้าน healthcare

จักร โกศัลยวัตร: ประเทศนี้ต้องการ solution ด้าน healthcare

เรื่องและภาพ เพ็ญนภา หงษ์ทอง

สตาร์ทอัพด้านสุขภาพกำลังเติบโตขึ้นมาในฐานะ solution ด้านสุขภาพของประเทศในบริบทที่การขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพยังคงเป็นปัญหาคลาสิก ผีเสื้อขยับปีกฉบับนี้นั่งสนทนาสบายๆ กับจักร โกศัลยวัตร นายกสมาคมสตาร์ทอัพด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ และ CEO Pharmasafe สตาร์ทอัพที่ขอทำหน้าที่ดูแลการใช้ยาอย่างปลอดภัยให้คนไทย

ทราบว่าคุณจักรจบด้านสถาปัตยกรรม ทำไมถึงมาจับธุรกิจด้าน health tech     

เกิดจากปัญหาส่วนตัวที่คุณพ่อเป็นเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน พอพาไปโรงพยาบาล ห้องฉุกเฉินก็ถามว่าทานยาอะไรประจำ หรือแพ้ยาอะไร ซึ่งผมตอบไม่ได้ เราต้องใช้เวลาเยอะในการหาข้อมูล โทรกลับไปหาที่บ้าน กว่าจะหายา ยาเก่ายาใหม่ปนกับยาของแม่ด้วย กว่าจะสะกดชื่อภาษาอังกฤษ กว่าจะบอกหมอ เรามองว่าภาวะฉุกเฉินแบบนี้เราใช้เวลาหาข้อมูล 20 นาที มันเป็นความเป็นความตาย ทำไมโรงพยาบาลถึงต้องเก็บข้อมูลผู้ป่วยไว้ ทั้งที่เวลาต้องการใช้งานจริงผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของข้อมูลเขามีสิทธิใช้ และเป็นข้อมูลที่ช่วยชีวิตเขาได้ด้วย มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Pharmasafe ที่เราคิดว่าเราอยากจะสร้างเครื่องมือหรือระบบที่ช่วยเรื่องการใช้ยาผู้ป่วยที่อยู่นอกโรงพยาบาล และไม่ว่าจะข้อมูล วิธีการใช้ หรือการเตือนความเสี่ยง ก็เลยเริ่มต้นพัฒนาเป็นแอพมือถือ เพราะปัญหาในการใช้ยาผิดของคนมันเป็นปัญหาระดับโลก WHO ทำ global effort เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมาให้ medication error เป็นวาระของโลกเลย  บอกว่าภายใน 5 ปี ทั่วโลกต้องรณรงค์ลด medication error ให้เหลือครึ่งหนึ่ง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ยาเยอะมาก เกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา จากงานวิจัยของ สปสช. เมื่อสามปีที่แล้ว สำรวจพบว่าเกือบ 40% ของคนที่เอายากลับไปทานที่บ้านใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น กินยาผิดชนิด ผิดวิธี ผิดเวลา ผิดขนาด หยุดยาเอง เกิด antibiotic resistance  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง และเก็บยาไม่ถูก ยาเสื่อมสภาพ เก็บยาเก่ายาใหม่ปนกัน สะสมยา ปัญหานี้เป็นปัญหาต้นเหตุของปัญหาสุขภาพทุกอย่างในประเทศ

มาตรฐานการให้บริการด้านยาของประเทศเราคือ อธิบายวิธีการกินยาให้ผู้ป่วยฟังสองนาทีหน้าห้องจ่ายยาแล้วคาดหวังว่าผู้ป่วยจะเอายาทั้ง 7 ซองนี้กลับกินที่บ้านสองเดือน ก่อนจะมาพบหมอใหม่ในการนัดต่อไป แล้วคาดหวังว่าสองเดือนนั้นเขาจะทานยาได้ถูกต้อง มันเป็นไม่ได้

ข้อมูลก็ชี้ชัดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่เราไม่เคยคิดจะเปลี่ยนการให้บริการ ในมุมของบุคลากรก็มองว่าตัวเองทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว เพราะในโรงพยาบาลก็จัดยา จ่ายยา สัมภาษณ์การแพ้ สัมภาษณ์ข้อมูล จ่ายยา ก็ครบแล้วนี่ แต่ปัญหามันเกิดที่บ้านตัวระบบ Pharmasafe จึงถูกพัฒนามาเพื่อเป็นผู้ช่วยดูแลต่อไป พอผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว โดยระบบของเรา เป็น application ที่ออกแบบแบบ patient centric คือเน้น ผู้ป่วย มีข้อมูลยาเก็บไว้ ข้อมูลยามาได้สองทาง คือผู้ป่วยถ่ายรูปเม็ดยา แล้วก็ตั้งเตือน เวลากินยาได้ด้วยตัวเอง อันนั้นคือทางปกติ แต่ของเราพิเศษตรงที่เราเป็นแพลทฟอร์มที่เชื่อมกับโรงพยาบาลด้วย เราวางแผนไว้แต่แรกแล้วว่าเราจะเชื่อมจากโรงพยาบาลมาหาผู้ป่วย โรงพยาบาลที่ใช้บริการเราก็จะซื้อซอฟท์แวร์เราไปใช้ เวลาผมไปขายก็จะบอกว่าผมมาขายเครื่องมือแพทย์นี่แหละ ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พูดเหมือนกับเป็น gimmick ทางการตลาด แต่มันก็ช่วยผู้ป่วยได้จริงๆ เพราะว่าทุกครั้งที่จ่ายยาให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยก็จะได้รับข้อมูลยาที่จ่ายจากหมอมาเก็บไว้ในมือถือ มีข้อมูลยา มีเอกสารกำกับยาสามารถเปิดดูได้ถ้าต้องการข้อมูลที่ละเอียด มีคำแนะนำอย่างย่อ แล้วตัวระบบจะไปตั้งการเตือนการทานยาอัตโนมัติ คือทุกครั้งที่ต้องทานยามือถือก็จะเตือน จะเด้งขึ้นมาบอกว่าได้เวลาทานยา ผู้ป่วยก็จะเห็นรูปว่าเม็ดยาที่ต้องกินคืออะไร ทานก่อนหรือหลังอาหาร ซึ่งตามเวลาที่หมอสั่ง ผู้ป่วยก็ไม่ต้องตั้งเอง และเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่เป็นเอกสารกำกับยาทั่วไป แต่มันคือสิ่งที่หมอวินิจฉัยแล้วสั่งให้ทาน คือเป็น direction ตรงเลยสำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ

โดยคอนเซปท์ก็เป็นแบบนี้ นอกจากนี้เราสามารถรับข้อมูลจากผู้ป่วยได้ เมื่อผู้ป่วยบันทึกยาที่ซื้อเองจากร้านขายยา ไปหาหมอคลินิก ไปหาหมอที่สถานีอนามัย หรือผู้ดูแลผู้ป่วย เช่น CG อสม. หรือหน่วยงานปฐมภูมิ สามารถช่วยผู้ป่วยได้ แต่ตอนนี้เรามองว่าแนวทางของเราเราอยากทำเป็น selfcare คือผู้ป่วยจะเปลี่ยน mindset ว่าการดูแลสุขภาพจากเดิมที่ต้องเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลเท่านั้น เขาสามารถดูแลตัวเองได้ อย่างน้อยเรื่องการใช้ยาประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นโรคเรื้อรัง กินยาตลอดชีวิตหากเขารู้จักจัดการการกินยาของตัวเองได้ดีพอ เขาก็ควบคุมได้ การป่วยที่จะรุนแรงขึ้นก็ลดลง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดัน ผู้ป่วยเส้นเลือดสมอง  โรคไต ที่ต้องการทานยาเพื่อควบคุมอาการของโรคไว้ไม่ให้รุนแรง เราถึงมองว่าเครื่องมือของเราจะสามารถแก้ปัญหาแบบ primary และเป็นการป้องกันก่อนจะเกิดปัญหาด้วย มันคือการป้องกันและจะลดงานของบุคลากรทางการแพทย์โดยรวมเลย เมื่อคนป่วยน้อยลง รักษาหายเร็วขึ้น outcome มันดี คนก็ไม่ต้องกลับไปหาหมอบ่อยๆ  ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านก็ทำตามคำแนะนำที่มีจากแอพแค่ไปตรวจประจำ โรคแทรกซ้อน อาการเฉียบพลันร้ายแรงก็ลดลง

 

การดึงข้อมูลยาจากโรงพยาบาลได้รับการร่วมมือจากโรงพยาบาลไหม เพราะในทางระบบสาธารณสุขบ้านเราแล้วยาที่โรงพยาบาลจ่ายถือเป็นข้อมูลส่วนตัวของคนไข้

มันก็เป็นความท้าทายของเรา แต่โชคดีที่มีหลายโรงพยาบาลที่ทำงานร่วมมือกับเราอยู่ตอนนี้เขาเห็นความสำคัญของผู้ป่วยเหนือกว่าสิ่งที่โรงพยาบาลกังวล เช่น เรื่องข้อมูล เรื่องความปลอดภัย ซึ่งจริงๆ สิ่งตรงนั้นเรามองเห็นและออกแบบระบบเพื่อป้องกันอยู่แล้ว แต่โดย mindset เรามองว่า ถ้าพิจารณาระหว่างความปลอดภัยของข้อมูลหรือว่ากฎระเบียบกับความปลอดภัยของผู้ป่วย เราคิดว่าโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์น่าจะมองผู้ป่วยก่อน เงื่อนไขหรือแนวทางเราสามารถดูวิธีการได้ concern ความเสี่ยงอะไร มันก็แก้ได้ แต่ถ้าจะบอกว่าเพราะมันเสี่ยงเราเลยไม่ช่วยผู้ป่วย มันถึงทำให้ปัญหามันยังเกิดอยู่  ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าวันที่พ่อผมป่วย มันมีทางเลือกสองทาง ผมต้องไปกรอกคำร้องขอประวัติคนไข้ในโรงพยาบาลที่พ่อรักษาซึ่งมีหลายแห่งเพื่อขอข้อมูลยามาให้หมอ กับการมีระบบที่ดีพอที่ทำให้ผมสามารถได้ข้อมูลนั้นมาเลย ถ้าเราเป็นฝั่งผู้ป่วยเราก็ต้องอยากได้แบบหลังอยู่แล้ว  แต่ทำไมโรงพยาบาลถึงมองว่าเราต้องทำตามระเบียบเดิม  แนวทางที่มันลดความเสี่ยงที่ทำให้โรงพยาบาลเกิดปัญหา ทั้งที่ปัญหามันควรจะแก้ แต่ปัญหาของผู้ป่วยมันคือเรื่องของชีวิต เราถึงมองว่าการทำงานกับโรงพยาบาลมีความท้าทาย แต่เราโชคดีที่หลายโรงพยาบาลเห็นประโยชน์

มันอาจจะเป็นข้อได้เปรียบของผมที่ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ อย่างที่คุณรู้ผมจากสถาปัตย์ และผมไม่ได้ทำเรื่องแบบนี้มาก่อน ถ้าพูดถึงผมไม่ได้เป็นทั้งฝั่ง health และฝั่ง tech แต่ผมเป็นฝั่งผู้ป่วยที่มี pain point แล้วไม่อยากให้ปัญหามันเกิดกับคนอื่นอีก เราถึงพยายามทำระบบ และเราเชื่อมั่นว่าถ้าทุกคนเห็นว่ามันเกิดประโยชน์จริง มันก็น่าจะช่วยกันสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน ให้ได้ประโยชน์จริง แก้ปัญหาได้จริงๆ

 

โรงพยาบาลที่มีโครงการร่วมมือกันในวันนี้มีที่ไหนบ้าง

มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลน้ำพอง ที่ขอนแก่น และโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา  เราเป็น provider คนแรกที่ร่วมมือทั้งกับโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เราถึงอยากจะบอกว่าต่อให้กระทรวงสาธารณสุขทำดีแค่ไหน  ทำสำเร็จแค่ไหน เขาก็จะไม่สามารถเชื่อมข้อมูลกับโรงพยาบาลเอกชนได้ หรือร้านขายยา  แต่เรา Pharmasafe สามารถทำได้ คือ มันอยู่ในแผนที่เราอยากทำกับ chain ร้านขายยา เพราะเราอยากให้ข้อมูลยาที่ผู้ป่วยได้รับไม่ว่าจากทางไหน ไปซื้อจากร้านขายยา ไปรับจากโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรฐไม่ว่าจะสังกัดไหน กระทรวงสาธารณสุข หรือสังกัดกองทัพบก ข้อมูลก็มาอยู่ที่ผู้ป่วย คอนเซปท์เราง่ายมาก เรามองว่าเรื่องความปลอดภัยผู้ป่วย ข้อมูลส่วนตัวผู้ป่วย เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันเลย ถ้าเรามองว่าข้อมูลสุขภาพ คนที่เป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้คือตัวผู้ป่วยเอง ไม่ใส่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่โรงพยาบาล ไม่ใช่เอกชน ไม่ใช่ร้านขายยา เพราะฉะนั้นหากผู้ป่วยยอม และต้องการมีข้อมูล เขาไปขอโรงพยาบาลมีหน้าที่ให้ เหมือนคำประกาศสิทธิผู้ป่วยที่ติดตามสถาพยาบาลทุกแห่ง ว่าข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย เป็นสิทธิของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยร้องขอ โรงพยาบาลมีหน้าที่ให้ แล้วการให้จะให้แบบไหน ด้วยกระดาษ หรือมีทางเลือกแบบนี้ ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติ ลดภาระงานของโรงพยาบาล ลดภาระงานของเภสัชกร เราก็น่าจะใช้ ผมถึงมองว่ามันเป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาล

การขายแอพพลิเคชั่นให้โรงพยาบาลเป็นการขายขาดหรือมีเงื่อนไวลา เงื่อนจำนวนผู้ป่วยเป็นปัจจัย

เราขายขาดเหมือนซอฟท์แวร์ เราไม่กำหนดจำนวนผู้ใช้เพราะเรามองว่า เราอยากให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด หากเป็นสตาร์ทอัพต่างประเทศ หรือสตาร์ทอัพที่มุ่งผลประโยชน์เป็นหลัก เขาอาจคิดในเชิงรายหัวเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ คนใช้เยอะๆ หรือขายตาม prescription หนึ่ง prescription กี่บาทกี่สตางค์ ก็ว่าไป แต่เรามองว่าแบบนี้มันทำให้ภาระตกอยู่กับผู้ใช้หรือผู้ป่วยเกินไป แต่เรามองว่าระบบแบบนี้มันไม่ได้มีต้นทุนในการติดตามการใช้ แต่มันมีต้นทุนในการติดตั้งเริ่มต้น เราก็ขายขาดแล้วก็เก็บค่า maintenance ก็น้อยมาก และไม่จำกัดว่าต้องผู้ใช้จำนวนเท่าไร ต่อไปเขาก็บอกกับคนไข้ของเขาว่าต่อไปโรงพยาบาลจะใช้วิธีนี้ในการให้ข้อมูลยานะ กรุณารับไปด้วย พูดง่ายๆ ใบปลิวที่เราแปะไว้ข้างหน้า ที่เราตั้งไว้ให้ผู้ป่วยหยิบ แต่นี่เป็นแอพ โหลดได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่ายไม่เปลืองกระดาษโลก ไม่ต้องมานั่งพิมพ์ เราก็สามารถรณรงค์ให้ผู้ป่วยใช้ ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเราไปซื้อยาในร้านขายยาทั่วไปทำไมเราได้เอกสารกำกับยาทุกกล่อง ละเอียดด้วย แต่พอทำไมซื้อยาที่โรงพยาบาลได้ข้อมูลแค่สติ๊กเกอร์ตรงซองยา ซึ่งข้อมูลอีกหลายอย่างเกี่ยวกับการใช้ยาให้ปลอดภัยมีตั้งเยอะ กินกับอะไรได้ไม่ได้ ให้นมลูกอยู่กินได้ไหม การเก็บรักษาที่ถูกต้อง เกิดพิษเบื้องต้นแล้วต้องปฏิบัติตัวยังไง ข้อมูลพวกนี้ถ้าไม่ให้ นี่ทุกโรงพยาบาลในประเทศไทย ทำผิดกฎหมายคุ้มครอผู้บริโคภนะครับ มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้ ต้องมีคู่มือ คำเตือน คำแนะนำที่ชัดเจน เพียงพอ ถ้าเกิดเขาไปกินอะไรที่คำเตือนอุ่นอกเหนือข้อมูลบนสติ๊กเกอร์ซองยา เขาก็ฟ้องร้อง โรงพยาบาลได้ ทีนี้เรามีระบบแบบนี้ข้อมูลมันครบ โรงพยาบาลก็ลดความเสี่ยง ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้ ผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์มีความขัดแย้งกันสูงมาก คือตั้งแง่จะจับผิดกัน อันดับหนึ่งของสาเหตุการฟ้องร้องคือเรื่องยาเลยครับ การให้ยาที่แพ้  ฉีดยาเข้าเส้นแล้วแพ้ เราถึงมองว่าการมีระบบแบบนี้มันช่วยป้องกันปัญหาก่อนจะเกิด ก่อนที่ผู้ป่วยจะเอายาเข้าปาก มันมีการเตือนก่อน เพราะระบบเรานอกจากเตือนเรื่องเวลาการรับยาแล้ว มันมีการเตือนความเสี่ยงจากการใช้ยาด้วย เช่น ได้รับยาจากโรงพยาบาล 2 แห่ง แล้วยามัน  duplicate เช่น เป็นยาลดความดันทั้งคู่ ถึงมันจะคนละตัวแต่กินด้วยกันอันตราย เราก็ขึ้นคำเตือน ในยาบางตัวมีส่วนผสมเดียวกัน เช่น ตัวนี้ก็มีพาราเซตามอน อีกตัวหนึ่งก็มี ถ้ากินเข้าไปทั้งคู่ก็ overdose เราก็เตือน หรือยาที่แพ้มันก็จะอยู่ในประวัติแพ้ยาของเราอยู่แล้ว เราก็เตือนอยู่แล้ว หรือยาที่เป็น drug interaction ใช้คู่กันไมได้ เราก็จะขึ้นเตือน  ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเหมือนเราเป็น safety net อันสุดท้าย กันอันตรายก่อนที่ผู้ป่วยจะเอายาเข้าปาก

 

การออกแบบว่าข้อมูลอะไรควรจะมีในแอพของเรา ได้มาจากไหน วิเคราะห์ปัญหาการใช้ยาบ้านเราอย่างไร

เราทำมาเป็นปีที่สี่แล้ว เราพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เราดูว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่เกิดจากการใช้ยา แล้วเราก็พยายามพัฒนาตัวระบบของเรา แหล่งข้อมูลที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ pain ส่วนตัว  เรื่องคุณพ่ออย่างที่บอก และอย่างที่เล่าให้ฟังครับว่าปัญหาของการใช้ยาผิดเป็นปัญหาระดับโลก และประเทศไทยก็เป็นหนักเลย ยิ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยปัญหาจะเพิ่มเลยเพราะจำนวนคนใช้ยาต่อเนื่องจะยิ่งเยอะขึ้น

ผมจะให้ดูตัวอย่างการสั่งยาที่ผิดพลาดจากโรงพยาบาล อันนี้คือผู้ป่วยได้รับยา generic เดียวกันแต่คนละ tradename  มันสะท้อนให้เห็นว่าโรงพยาบาลไม่มีระบบภายในที่ตรวจสอบได้ดีพอ ผมไม่ต้องปิดชื่อผู้ป่วยเพราะเป็นแม่ผม แม่ผมเคยผ่าตัดเส้นเลือดสมองมาแล้ว เส้นเลือดสมองแตกก็ recover มาได้แต่ต้องดูแลต่อเนื่อง แล้ววันนึงมี breed ในสมองไป admit แล้วจ่ายยาแบบนี้ให้กลับบ้าน มันเป็นยาแก้บ้านหมุน แต่ถ้า double dose มันจะมีอาการมึนยึ่งขึ้น อาจจะล้มได้ เคสแบบนี้ถ้าล้มมีสิทธิถึงขั้นเสียชีวิต ดีที่เรา detect ได้ แต่ถ้าคนอื่นจะทำยังไง ผมว่าเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นกับพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราทุกคนและทุกวัน ตอนนี้โรงพยาบาลในประเทศไทยออก prescription ปีละ 200 กว่าล้าน prescription ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 60 กว่าล้านคน เท่ากับว่า มันเกิดโดยที่เราไม่รู้เลย ทั้งที่มันป้องกันได้

ที่ถามว่าเราพัฒนามายังไง เราศึกษาปัญหามันเยอะมาก พอศึกษาไปเรื่อยๆ เราก็พบว่าการแก้ฝั่งโรงพยาบาลทำได้ค่อนข้างลำบาก เลยอยากแก้ฝั่งผู้ป่วยมากกว่า ว่าเมื่อเอายากลับมาทานที่บ้าน ถ้ามีข้อมูลที่ครบ มีรูปยา มันจะมีการแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลา มันจะขึ้นมาเป็นตามมื้อเลย  ยามื้อเช้ามีอะไรบ้าง กินกี่เม็ด กินแล้วก็กดปุ่มว่ากินแล้ว ซึ่งการกดกินหรือไม่กินสามารถไปแทรก compliance ได้ ว่า ผู้ป่วย compliance ดีแค่ไหน แล้วเราสามารถทำ  report รวมได้เนื่องจากเรารวมข้อมูลยาที่ผู้ป่วยได้รับจากทุกแหล่ง จากโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง รวมทั้งจากที่ผู้ป่วยบันทึกเอง แสดงให้เห็นพฤติกรรมการกินยา เขาพลาดยามื้อไหนบ่อย บุคลากรทางการแทพย์จะได้ปรับมื้อยาให้ตรงกับพฤติกรรมการใช้ยาของเขาได้ อันนี้คือการเตือนความเสี่ยงจากยา

 

คิดว่า health tech จะสามารถเข้าถึงชุมชนหรือบริการปฐมภูมิได้หรือไม่

ถ้ากังวลเรื่องสมาร์ทโฟน ผมว่าไม่ใช่อุปสรรคเลย เพราะมันสิ่งที่แพร่หลายอยู่แล้ว  ตอนไปทำงานที่โคราช ผมเจอคุณตาคนหนึ่งอยู่สูงเนิน ในชนบทนะ บ้านยังเป็นดินแดงอยู่ แกก็มีโทรศัพท์ที่แถมมากับค่ายโทรศัพท์สักค่ายหนึ่ง ตอนนี้โทรศัพท์ปุ่มกดมันไม่มีแล้วไง  เวลาเปิดเบอร์ใหม่ มันก็ต้องมีโทรศัพท์แบบนี้มา ซึ่งสามารถใช้แอพเราได้ แล้วลุงแกใช้ดูมวย   แต่ยาที่อยู่ใต้แคร่ที่แกนั่ง รวมได้เป็นถุงเป็นตะกร้า และแกก็เก็บหมดทั้งยาเก่ายาใหม่รวมกัน แต่พอมีแอพแบบนี้ ถ่ายรูปได้ แกก็คัดแยกยาที่เป็นปัจจุบันของแกได้เอง เรื่องยาเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวทุกคน เป็น touch point แรก ที่ทำให้มี selfcare ที่ดี ซึ่งเรามองว่าเป็นทางออกของระบบบุคลากร หากผู้ป่วยยังมองว่าทุกอย่างต้องพึ่งหมอ ต้องเข้าโรงพยาบาลหมอก็ยังงานหนักไม่มีทางจบไม่มีทางสิ้น การรักษาก็แย่ลง เมื่อผู้ป่วยดูแลตัวเองดี ป่วยน้อยลง งานหมอน้อยลง  หมอรักษาดีขึ้น  outcome ก็ดีขึ้น วัฎจักรที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

อย่าไปกลัวว่าผู้ป่วยจะใช้มือถือไม่ได้ แอพไม่ได้ ถ้าเราให้โอกาสเขา และเอามาใช้เป็นเรื่องเป็นราว ผู้ป่วยพร้อมที่จะทำ หรือที่ขอนแก่นเราไปที่ศูนย์บริการปฐมภูมิ ชุมชนสามเหลี่ยม  ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์  ไปสอน อสม. ในพื้นที่ให้ใช้แอพของเราซึ่งโหลดฟรีอยู่แล้ว ตอนนี้สามารถโหลดและบันทึกรายการยาได้เลย เราถ่ายรูป แล้วใส่ข้อมูลลงไป ยาอะไร กินตอนไหน  มันจะบันทึกดาต้าเบสของยาให้เรา

 

ตอนนี้ทำถึงไหนแล้ว

โครงการเพิ่งเริ่มเลย เราเข้าไปทำเพราะมันมีโครงการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่อยากทำนวัตกรรมเพื่อชุมชน คือเขามีแนวทางอยากให้เอานวัตกรรมไปใช้ในชุมชน ส่วนใหญ่ที่เห็นกันจะปรากฏในรูปของเชิงเศรษฐกิจเยอะ เช่น การเกษตร การเพิ่มผลลิต  การทำอีเคอมเมิร์ซ แต่ด้านสังคมยังไม่มี เขาก็เลยติดต่อผมเพื่อหาทางทำอะไรที่มันเป็นคุณค่าด้านสังคมหน่อย  เรามองว่าเราเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยให้ชุมชนแก้ปัญหาเรื่องยาได้ ซึ่งพอไปมันก็เป็นจริงเพราะว่า เอาง่ายๆ ที่ชุมชนสามเหลี่ยมเขามีหน่วยปฐมภูมิตรงชุมชนเลย สหวิชาชีพก็นั่งนับเม็ดยา ดู compliance ผู้ป่วย นั่งสัมภาษณ์ผู้ป่วยกันตรงนั้น ซึ่งหากใช้ระบบของเราไม่ต้องเดินออกไปเลย สามารถใช้ของเราดูบันทึกผู้ป่วย ดู compliance ยา ดูการกินยาของผู้ป่วยที่หน่วยบริการได้เลย  กินยาครบไปไม่ครบ ซื้อยาอะไรมากินเพิ่ม กินสมุนไพรอะไรมาบ้าง ซึ่งตรงนี้มันเป็นเครื่องมือเชื่อมระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วย รวมถึงกลไกที่เชื่อมอยู่แล้วคือ อสม. เรามองว่าหากใช้ดี มันควรจะขยายไปในทุกชุมชนในประเทศได้ จะได้ช่วยลดภาระของหน่วยปฐมภมูมิ และผู้ป่วยก็ได้รับการอบรมด้าน  heath literacy และ selfcare เพิ่มขึ้น

เราเพิ่งเริ่มดือนที่ผ่านมา  ไปขอนแก่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้ทุนยังไม่ได้เลย

ปัญหาของประเทศนี้คือสมมติผมขอทุนไปทำการเกษตร เขาก็จะถามเลยว่าทำแล้วได้อะไรกลับมา ผมก็จะบอกเลยว่า ผมจะได้เป็นเงินต่อเดือนเท่านี้ ครบหกเดือนผมได้เงินเท่านี้ เขาโอเค แต่ของงานสาธารณสุข จะได้อะไรกลับคืนมา เงินมันก็ไม่ได้ ความคุ้มทุนมันวัดยังไง

มันไม่มี แล้ว mindset ของคนให้ทุน ก็จะบอกว่า เออ มันพูดยากเนอะ เขาก็จะไปเคลมความคุ้มทุนไม่ได้ เราอธิบายยาก เราไม่สามารถหาหลักฐานจับต้องได้มาบอกว่า เดี๋ยวเดือนหน้าจะมีป้าคนนี้กินยาละลายลิ่มเลือดไม่ครบ แล้วเขาจะเป็น stroke แล้วค่ารักษาแสนบาทที่ระบบบัตรทองที่เราต้องเสียเพื่อดูแลป้าคนนี้นะ ผมอาจจะบอกแบบนี้ได้ แต่มันไม่มีหลักฐานเอกสารที่จะให้เขาไปยื่นทำตามระเบียบได้ ผมไปคุยกับ อสม. โดยที่ผมไม่รู้ว่าเราจะได้ทุนมาทำหรือเปล่า ที่ผมพยายามทำคือ สื่อสารความคิดและเป้าหมายให้ทุกคนฟังและถ้าใครสามารถช่วยกันได้ ก็มาช่วยกัน อย่างเมื่อวันก่อน ผมก็ไปคุยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ก็ไปเล่าไอเดีย อสม. ให้ฟัง เขาก็เออ น่าสนใจ ก็พิจารณาอยู่แต่กว่าจะผ่านการพิจารณา กว่าจะได้งบประมาณก็คงยาว การที่เรามีทีมงานแค่นี้ เราก็ต้องทำเท่าที่เราทำได้ อย่างตัวผมเองก็ต้องไปบรรยายเอง ทาง primary ก็ให้การสนับสนุน ในการช่วยประสานงาน รณรงค์ แต่สุดท้ายมันจะยั่งยืนมันต้องระดับนโยบาย

 

คุณพูดทีแรกว่าประชาชนสามารถโหลดแอพได้ฟรีเลย แล้วรายได้ของ Pharmasafe มาจากไหน

เราเน้นรายได้ที่ขายให้กับ รพ แต่คนทั่วไปใช้ได้ฟรีเลย  อสม. พอใช้เป็นก็ไปให้คนในชุมชน  กลุ่มเสี่ยง chronic disease ผู้สูงอายุ แล้วเขาไปช่วยบันทึกรายการยา แค่นี้ก็ทำได้ประโยชน์แล้ว แต่ข้อมูลที่ผู้ป่วยบันทึกเองมันไม่ใช่ข้อมูลที่ valid พอที่จะเอามาใช้ทำ care มันไม่ได้แก้ปัญหาของโรงพยาบาลเท่าไร เราถึงเน้นขายระบบให้โรงพยาบาลที่พอซื้อจะได้ระบบที่เชื่อมต่ออัตโนมัติ อย่างแรกคือมันเป็นบริการที่ทำให้ชีวิตผู้ป่วยสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาบันทึกเอง  ทุกครั้งที่ผู้ป่วยรับยาข้อมูลก็จะเข้ามาเลย และการเตือนการทานยาก็จะเป็นนตามที่แพทย์สั่งจากระบบเลย

เคสที่เกิดกับแม่ผม หากโรงพยาบาลนั้นใช้ระบบเรามันจะทำให้ผู้ป่วยได้รับคำเตือนมันจะไม่เกิด คืออย่างน้อยผู้ป่วยเอายากลับบ้านแล้ว แต่เห็นคำเตือนเขาจะได้ไม่กิน หรือไม่กินต่อเนื่อง จริงๆ แล้วโรงพยาบาลผมเคยนำงานไปเสนอขายนะ แต่เขาไม่ซื้อ อะไรแบบนี้มันทำให้เรารู้สึกเจ็บใจเหมือนกันนะ ถ้าหากเราไม่รู้แล้วแม่เราเป็นอะไรไป ถ้าเป็นที่ต่างประเทศโรงพยาบาลคุณโดนฟ้องล้มละลาย แต่ที่ไทยมันมีการคุ้มครองบุคลากร แต่เราไม่พูดถึงปัญหาฝั่งผู้ป่วยด้วย เพราะมันเชื่อมโยงกัน หมอรักษาผู้ป่วยหนักมาก วันๆ รับเคสเยอะ ก็เพราะผู้ป่วยป่วยไม่หายไง แล้วผู้ป่วยไม่หายเกิดจากอะไรล่ะเขาก็ไม่อยากป่วยหรอก ไม่อยากแพ้ยา ไม่อยาก overdose หรือเกิดอุบัติเหตุในการกินยาหรอก แต่มันไม่ทางแก้ เราเลยพยายามเป็นตัวกลาง ผมก็งงนะทำไมผมต้องมาเป็นตัวกลางทำเรื่องนี้ เพราะมันเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นปัญหาที่ใครก็ได้ที่มี resource เยอะกว่าผม มาช่วยทำหน่อยเถอะ โรงพยาบาลกรุงเทพก็ได้ หรือใครก็ได้ แต่นี่ผมนั่งทำกันอยู่ 5 คน

 

คุณพูดถึงตัวละครภาครัฐหลายองค์กรมาก ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือแม้แต่ ธกส. แล้วกระทรวงสาธารณสุขอยู่ตรงไหนในการสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านสุขภาพของประเทศ ดูเหมือนให้การสนับสนุนน้อยสุด

เราก็ไม่อยากจะพูดอย่างนั้น แต่เมื่อเปรียบเทีบบกับหน่วยงานอื่นๆ ความเร็วในการสนับสนนุ หรือการมาร่วมหัวจมท้ายมันน้อย จริงๆ เราก็ทำโครงการกับกรมการแพทย์อยู่บ้าง  แต่เมื่อมองว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักด้านสุขภาพของประเทศเขาควรเป็นตัวตั้งตี  ควรมองเราเป็นพันธมิตร อย่ามองเราว่าเป็นอุปสรรค  เป็น thread หรือคนที่จะมาอะไรที่จะเป็นแง่ร้าย

มีการมองแบบนี้ด้วย

เอาอย่างนี้ ผมเคยไปเสนอระบบของผมที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่ง หมอระดับบริหารยังถามผมในที่ประชุมเลยว่า เอ้า ถ้าระบบคุณเป็นแบบนี้ หากผมจ่ายยาผิดผู้ป่วยก็รู้สิ แล้วไม่ใช่ที่เดียว ผมเจอคำถามแบบนี้สองที่ อีกที่หนึ่งเป็นระดับวิทยาลัยแพทย์ mindset อะไรแบบนี้เราก็คิดนะเขาอาจจะมองเราเป็น thread ส่วนตัวหรือเปล่า แต่ระดับการแก้ปัญหาเรายังไม่เจอะอะไรแย่ๆ ขนาดนั้น มันก็แค่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เช่น telemedicine มันก็เป็นแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในถิ่นทุรกันดารของประเทศ แต่กลายเป็นว่าเราก็ยังคิดกันช้าเหลือเกิน โดยเฉพาะแพทยสภา ในการรับรองการรักษา หรือการออกแนวทาง ออกวิธีการที่ปลอดภัย คืออย่างน้อยถ้า concern ก็ควรบอกมาว่าควรมีเงื่อนไขยังไงแล้วจะโอเค การที่จะไม่บอกเลยว่ามันได้หรือไม่ได้ มันก็ทำให้เกิดเป็นสูญญากาศขึ้นมาว่าตกลงทำได้หรือไม่ แพทย์สามารถแนะนำผู้ป่วยผ่านมือถือ ผ่านไลน์ ผ่านวิดีโอคอลได้ไหม ได้ไม่ได้ยังไงก็น่าจะบอก

สิ่งที่เราคาดหวังคือการผลักดัน การนิ่งเฉยถึงแม้ไม่ได้เป็นการดึง มันก็เหมือนการเห็นคนกำลังจะจมน้ำ เราไม่กระโดดลงไปช่วย เราอยู่เฉยๆ ไมได้ถึงกับกดหัวเขาจมน้ำ แต่เขาก็ต้องจมน้ำตายอยู่ดี เราถึงมองว่าการสนับสนุน การมอง startup  ให้เป็นหน่วยหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหา เราอยากเห็นภาพอย่างนี้ในประเทศนี้ ผมบอกได้เลยว่า คนทำ helath tech มันไม่เหมือนกับสตาร์ทอัพด้านอื่นๆ ไม่เหมือน fintech, insuretech, e commerce หรืออะไร ความท้าทายมันเยอะและปัญหามันมาก ในเรื่องของ health tech ทุกคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำ ผมสัมผัสได้เลยว่ามันเกิดจากปัญหาที่เขาเจอมาเองจริงๆ เป็นผู้ป่วยเองหรือหลายๆ คนก็เป็นหมอ เป็นบุคลากรทางการแพทย์เองที่ลุกขึ้นมาทำ เพราะเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ดี อยากจะหา solution ให้ จริงๆ แล้วทรัพยากร เวลา หรือศักยภาพที่มีเขาไปทำ startup แบบอื่น เขาได้เงินง่ายกว่านี้เยอะ เอาแค่คนเขียนแอพ ไปทำแอพอย่างอื่นเก็บตังค์คนก็ได้เงินเยอะกว่านี้แล้ว ทำไมต้องไปลำบากหรือพยายามทำ เหตุผลเดียวก็คือทุกคนมี passion และความต้องการแก้ปัญหา อยากจะทำให้ประเทศนี้มันดีขึ้น  ทีนี้เราถึงอยากจะได้รับการสนับสนุน

การที่เราตั้งสมาคมขึ้นมาเพราะเราอยากให้ทุกคนที่มีใจเข้ามาทำอยู่รอด และเจริญเติบโต มันจะได้เป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นหลัง ที่อยากมาทำได้ใช้ความสามารถแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แก้แค่การจองตั๋วเครื่องบิน การจองโรงแรม นัดเดท  สังคมมันมีปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญกว่าที่ควรแก้ แต่ถ้าเกิดมันยาก มันลำบาก แล้วผลตอบแทนก็ไม่คุ้ม สุดท้ายเขาก็ต้องล้มหายตายจากไป มีแต่คนทำอะไรก็ไม่รู้ สุดท้ายประเทศเราก็ไม่มีคนพัฒนา solution ด้าน  healthcare

 

อยากให้พูดถึงสมาคมว่าคืออะไร มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

เป็นการร่วมกลุ่มของสตาร์ทอัพของคนไทยที่ทำงานด้าน health tech ทำให้เรามีตัวตน สมาคมเป็นนิติบุคคล พอเรามีแล้วเราสามารถเป็นตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมได้  เพราะฉะนั้นเวลาเราทำความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเราจะทำได้ง่ายกว่า เช่น การทำโครงการความร่วมมือ หากเราอยู่ในรูปแบบบริษัทเอกชน รัฐก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะสนับสนุน มอบทุน ทำไมต้องเป็นบริษัทนี้ มีใต้โต๊ะผลประโยชน์หรือเปล่า แต่พอมาเป็นสมาคม มันสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนในการเข้าร่วม เช่น การเซ็น MOU การร่วมกันสนับสนุน ซึ่งมันก็เป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ พอเราเป็นสมาคมหลายหน่วยงานก็เข้ามาสนับสนุนให้ความร่วมมือกับเราได้

เราเป็นมาได้ปีกับหนึ่งเดือนแต่จริงๆ เราเป็นกลุ่มทำ health tech เป็นชุมชนกันอยู่ประมาณ 3 ปีแล้ว เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ มีประมาณ 12 บริษัท คือ นัดกัน ไปนำเสนอ ไปออกงานด้วยกันบ่อยๆ แล้วก็คุยกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไปรับโครงการด้วยกัน จนมีความเห็นว่าเราควรตั้งสมาคมด้วยกัน จาก 12 บริษัทตอนเริ่มรวมตัวกันใหม่ๆ วันนี้กลายเป็น 55 บริษัทแล้ว ถือว่าโตไว ต้องขอบคุณภาครัฐ ที่หลายๆ หน่วยงาน ไม่ว่าวะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือกระทรวงดิจิทัลที่มองเห็นความสำคัญของฝั่งการพัฒนาด้านสังคมด้วย ซึ่ง health care ก็เป็นภาระของเขาเหมือนกันในการเอานวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ

 

ทุนเป็นคนไทยหมดเลยไหม โอกาสที่ข้อมูลสุขภาพคนไทยจะหลุดรั่วไปอยู่ในมือต่างประเทศมีไหม

มี startup สุขภาพที่เป็นทุนต่างประเทศ ประกอบการในไทยเหมือนกัน แต่เอาจริงๆ mindset ที่ถูกต้องในอนาคตคือมันไม่มีหรอกครับในอนาคตประเทศไทยหรือประเทศอะไร อย่างกูเกิ้ล เฟซบุ๊กมาทำธุรกิจในไทย เขาก็ใช้เซอร์วิสเดียวกันให้กับคนทั้งโลก ข้อมูลที่เขาได้รับมันก็เกิดจากความยินยอมพร้อมใจจากผู้ใช้หรือ users จริงๆ ตอนนี้ถามว่าระหว่างเฟซบุ๊กกับมหาดไทย ใครมีข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรไทยเยอะกว่ากัน มหาดไทยมีแค่ที่อยู่ ภูมิลำเนา อายุ วันเกิด แต่เฟซบุ๊กเขารู้หมดเลย มันก็ไม่ต่างอะไรจาก healthcare ผมถามว่าสมมติอยู่ดีๆ มีระบบออนไลน์อะไรสักอย่างเอาไว้ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ถึงขั้นให้การรักษาเลยนะ คิดตังค์ด้วย แต่มันดีจริงๆ ถ่ายวิดีโอแล้ววินิจฉัยได้เลยว่าผมเป็นอะไร แต่เป็นบริการจากต่างประเทศ เราก็ต้องให้ข้อมูลเขาเพราะเราจะเป็นผู้ป่วยเขา กฎหมายไทยควบคุมอะไรไม่ได้ และก็ไม่มีกฎหมายประเทศไหนควบคุมได้เหมือนกัน โลกมันต้องไปในจุดตรงนั้นอยู่แล้ว ผมถึงทำระบบอย่างนี้ ผมถึงบอกว่า

mindset ผมคือข้อมูลเป็นของผู้ป่วย เพราะฉะนั้น concern ผมก็คือ ไม่ว่าจะโรงพยาบาล ภาครัฐ กระทรวง หรือใครก็ตาม ที่จะเข้ามาควบคุม ลืมมันไปเสียเถิด แต่เราต้องปรับตัวมากกว่าว่าไอ้สิ่งที่เราหวงๆ นี้มันทำให้เราให้บริการผู้ป่วยได้คุณภาพน้อยลงหรือเปล่า

มัวแต่ห่วงเรื่องความปลอดภัยข้อมูล ความเป็นส่วนตัวขณะที่คนอื่นที่ให้บริการเขาข้ามไปแล้ว เขาให้บริการคนไทยได้เลย โดยที่เขาไม่ต้องอยู่ในไทยด้วย อย่างที่มีบริการถ่ายรูปตาแล้วสามารถตรวจเรติน่าด้วย AI แล้ววิจินฉัยโรคบางโรคได้เลยแบบนี้

 

เกรงเรื่องสิทธิบัตรที่มันจะตามมา เลยไม่แน่ใจว่าตัวเองวิตกไกลไปไหม

ไม่ไกลหรอกครับ มันเป็น concern ที่ดี แต่แน่นอนมันก็ยังมีกฎหมายของทั้งโลกอยู่  เช่น EU เริ่มแล้วกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ของไทยก็กำลังเป็นพ.ร.บ. ที่กำลังจะผ่าน การควบคุมต้องมีอยู่แล้ว แต่ฝั่งผู้ใช้ user ก็ต้องเป็นคนเลือกที่จะยอมหรือไม่ยอมให้ข้อมูลส่วนตัวของตนเอง แน่นอนการยอมมันต้อง comply กับสิ่งที่เขาต้องการได้รับ เหมือนเวลาเรายอมให้เฟซบุ๊กทำอะไรเพราะเราต้องการใช้มัน  แต่สิ่งที่เราไม่ยอมต่างหากที่เราต้อง concern เพราะเขาอาจเอาไปใช้  ซึ่งมันต้องมีการควบคุม ผมมองว่าในระดับโลกเขากลัวกันอยู่แล้วในการโดนฟ้องร้อง ในการละเมิดความเป็นส่วนตัว ในไทยต่างหากที่ไม่รู้ประสา แล้วจะเกิดปัญหา

 

กรอบ หรือกฎระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขมีอุปสรรคอะไรทำให้ startup ด้านสุขภาพเดินไปช้าไหม

มี ในแง่ความปลอดภัยของข้อมูลและการแชร์ข้อมูลก็ยังเป็น mindset ของกระทรวงที่มองว่าข้อมูลเป็นของเขา ทั้งที่เราคิดว่าทั้งโลกสุดท้ายมีข้อสรุปว่าอย่างไรเสียข้อมูลก็เป็นของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยร้องขอหรือนำไปใช้เขาควรมีอิสระ ไม่ใช่ยังมีคนที่มี authority มาคอยบอกเขาว่าจะได้หรือไม่ได้ สมมติเขาต้องการข้อมูลยา แต่ขอให้ผ่านระบบของผม กระทรวงไม่ได้มีหน้าที่บอกว่าให้หรือไม่ให้ มันต้องให้อย่างเดียว แล้วมาคุยกับผมว่าจะให้ต้องให้ยังไง เพราะผมเป็น  agent ที่จะเอาไปให้ผู้ป่วย ผมเป็น messenger เป็นวินมอเตอร์ไซค์ เขาเรียกให้ไปเอาข้อมูลยา วิ่งไปเอาข้อมูลยาให้หน่อย โรงพยาบาลบอกไม่ให้ อ้าว เพราะอะไร ข้อมูลมันไม่ใช่ของโรงพยาบาลนะ วิธีคิดแบบนี้ในกระทรวงยังมีอยู่เยอะ กับอีกรูปแบบหนึ่งคือชอบทำเอง หลายๆ อย่างทำเอง ถ้าทำดีเราไม่ว่าเลย ผมภาวนาเลยนะให้มีคนทำดีๆ ผมจะได้เลิกทำ ให้มีคนลุกขึ้นมาทำดีๆ เลยนะ แล้วทำได้ดีกว่าผม ผมเลิกทำพรุ่งนี้ได้เลย โมทนาสาธุด้วย แต่พอไม่มีคนทำได้ มันก็มีนะทำกันบ้างแต่มันยิบย่อยในหน่วยงาน อ้าว เขต  สปสช. ก็ทำเอง โรงพยาบาลก็ทำเอง กรมการแพทย์ก็ทำเอง ในกระทรวงเดียวกันนะ ยังไม่พูดถึงการทำงานซ้ำซ้อนกับเอกชน

แทนที่จะแก้ปัญหาเรื่องยากมันมีคนทำและทำได้ดีอยู่แล้ว ก็ทำงานร่วมกัน และก็ทำให้มันเกิดประโยชน์ แต่บางทีก็ไม่  เลือกทำเองมากกว่า กลายเป็นคู่แข่งกัน ถึงแม้จะไม่ได้แข่งกันโดยตรง แต่มันก็ปิดโอกาสที่จะให้เราสามารถทำระบบที่เชื่อมโยงภาพใหญ่ทั้งภาพ

 

คุณจักรกำลังบอกว่ากระทรวงไม่ควรลงมาเล่นอะไรแบบนี้เอง

ครับ  เขาควรมอง startup เป็น R&D ของเขา คือเขาไม่ควรลงทุนด้วยนะ  เราลงทุนไปก่อนแล้ว เราขอแค่การสนบับสนุนให้มันขยายเพิ่มขึ้น ถ้าเขาเห็นว่ามันมีประโยชน์ เขาก็แค่ facilitate สนับสนุน พอ ไม่ต้องลงมาทำตั้งแต่ศูนย์ ผมมองว่าเป็นประโยชน์กับเขาด้วยซ้ำ

 

ถ้ามองภาพรวมของสตาร์ทอัพด้าน health tech ในประเทศไทยคิดว่ายังขาดด้านไหน

ผมมองว่ามันไม่ใช่ประเทศไทยนะ ทั้งโลกแหละ มันมีอีกมาก ผมมองว่ามันเป็น paradigm shift ด้าน health care ของโลก คือทั้งโลกที่ผ่านมายังเถียงกันไม่จบเลยว่า health care service มันเป็นความรับผิดชอบของใคร ควรเป็น รัฐ 100% เลยไหม ตัวแทนอื่นที่เป็นบริษัทประกันแล้วมาใช้ ทุกประเทศมีโมเดลต่างกันหมดเลย ไม่สามารถหา solution ที่มัน sustain ได้เลย ทุกประเทศก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด บาง funding ก็แทบจะล้มละลายอยู่แล้ว กลัวเรื่อง aging society เป็นเพราะว่าภาระทั้งหมดมันเป็นของใครก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วย แต่ด้วยนวัตกรมใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มันจะเป็นตัวเปลี่ยนว่าผู้ป่วยสามารถเป็นคนรบผิดชอบสุขภาพตัวเองได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น การรักษาหลายๆ อย่างไม่ต้องไปที่โรงพยาบาลแล้ว หรือเครื่องมือหลายๆ อย่าง มันสามารถป้องกัน มันดีกว่าธุรกิจโรงพยาบาลที่ต้องรอคนป่วยมันถึงจะเกิด แต่ว่าตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเขาเป็น paradox เนอะ ว่าตกลงเขาอยากให้ผู้ป่วยสุขภาพดีหรือเปล่า ผมเคยเห็นผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง บ่นว่าปีนี้ยอดตก เพราะปีนั้นไม่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ คือ ตกลงวิชั่นของธุรกิจคุณคืออะไร ต้องการให้คนสุขภาพดีหรือป่วยเยอะๆ แล้วดี billing สูง ซึ่งความขัดแย้งตรงนี้ มันไม่มีทางยั่งยืน แต่สิ่งที่จะช่วยได้คือ

แทนที่จะมองว่าหน้าที่ care provider คือต้องรอคนป่วยแล้วมารักษา ทำไมเราไม่เปลี่ยนธุรกิจเป็นทำให้คนสุขภาพดี คือ การป้องกันนั่นแหละ ซึ่งมันมาพร้อมกับเทคโนโลยี มาพร้อมกับ healthcare มาพร้อมกับ device มาพร้อมกับ solution อื่น เพราะฉะนั้นหากเรามองโอกาสตรงนี้ startup มีตั้งเยอะตั้งแยะที่จะช่วยได้ 

ลองถามสิว่าตั้งแต่คนตื่นจนนอนหลับอยู่ที่บ้าน มีปัญหาสุขภาพอะไรบ้างที่สามารถแก้ได้ หรือสามารถเชื่อมโยงบริการจากโรงพยาบาลไปหาบ้าน ซึ่งตรงนี้ ผมมองว่าโรงพยาบาลควรทำเองด้วยซ้ำ ผมแปลกใจมากเลยใน health tech กระแส startup ดังมา 3-4 ปีแล้วนะครับ แต่พอมี fin tech (financial tech) เกี่ยวกับด้านการเงินดัง แบงก์ SCB แบงค์กสิกร กระโดดมาเล่นเองเลย จัด incubation คือโครงการบ่มเพาะ จัดให้เกิด startup ของค่ายตัวเอง มาเป็นพี่เบิ้มในการนำ พอมี insuretech บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ก็กระโดดขึ้นมาทำ คือธุรกิจไหนที่เกิด startup บูม เจ้าเก่าขาใหญ่เขาจะโดดเข้ามาทำเลย แต่ healthcare นี่ผมงงมากเลย ไม่มีใครกระโดดมาทำ ง่ายสุดผมคิดว่าหาก healthcare บูม โรงพยาบาลกรุงเทพต้องกระโดดลงมาแล้ว เป็น incubate  ต้องบ่มเพาะหา solutionเพื่อจะเก็บใช้เอง ถูกไหม แต่ไม่ทำ ไม่มีคนทำ บำรุงราษฎร์ก็ไม่ทำ อาศัยไปซื้อต่างประเทศมา ผมมองว่ามันควรต้องมีเจ้าภาพ กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ซัพพอร์ท startup เลย แต่ลงมาเล่นเอง

มองว่ายังไงทำไมเอกชนไม่ลงมาเล่น

ผมว่าโรงพยาบาลมันเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด ในความรู้สึกผม ระบบแบบเดิมมันนอนกินง่ายอยู่แล้ว แค่ค่ายาหรือกำไรจากกฎเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งขึ้นได้ในการรักษาโรค และสุขภาพเป็นธุรกิจที่ผู้ใช้ไม่มีทางเลือกมาก ป่วยก็ต้องรักษา ไม่ใช่ป่วยแล้วไปดูหนังแทนได้ ป่วยแล้วเที่ยวสวนสนุกแทนได้ มันต้องรักษา ทีนี้พอการที่อยู่โดยที่สบายดีอยู่แล้ว เลยไม่ต้องทำอะไร ซึ่งผมมองว่ามันเป็นความเสี่ยงของเขา

 

แหล่งทุนทุกวันนี้

ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ ก็ต้องขอบคุณ โดยเฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สนับสนุนแง่ของ grant และสร้างโครงการความร่วมมือ เช่น ดึงปาร์ตี้ที่สร้างโครงการต่อยอดกับเราได้ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และมีโครงการที่ทำกับกรมการแพทย์ การรวมตัวเป็นสมาคมเองจะเข้าไปสร้างความร่วมมือกับกรมการแพทย์เองก็ทำได้ยาก แต่หากหน่วยงานรัฐเขาร่วมมือขึ้นก่อน แล้วดึงสตาร์ทอัพไปเป็นปาร์ตี้ร่วมทำงานด้วย อันนี้คือการสนับสนุนที่เกิดขึ้นและดี นอกเหนือจากด้านตัวเงิน

 

อนาคต startup ของระเทศไทยภายใต้บริบทปัจจุบัน

ผมว่ามันท้าทายนะ จริงๆ แล้ว ตอนนี้ผมว่าเราอยู่ในช่วงขึ้นเขาเลย เขาที่เรายังมองไม่เห็นยอดเขาเท่าไร แต่เราขึ้นด้วยความเชื่อล้วนๆ เลยว่า วันหนึ่งเราจะถึงยอดเขา อนาคตมันตัดสินกันที่เวลา ในความคิดผมหากปีสองปีนี้ ไม่มีการสนับสนุนที่ดีพอ ผมกลัวว่ามันจะไม่สามารถไปถึงจุดที่ทุกตั้งใจไว้ได้ หลายๆ คนจะยอมแพ้ แล้วก็ไปทำอย่างอื่น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องน่าเสียดายในแง่โอกาสของประเทศ เราเลยมองว่าสมาคมก็มีงานหนักอยู่ในการทำให้ ecosystem ของเรามันผ่านพ้นภูเขานี้ไปได้ ผ่านความท้าทายพวกนี้

ถ้าเรามองที่คำว่า startup อย่างเดียว แล้วเอาบริบททั่วไปมาจับด้าน health tech  มันแทบไม่ make sense เลย เช่น โครงสร้างการระดมทุน หากเราบอกว่า startup ทั่วไปของการระดมทุน จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในระยะเวลาอันสั้น สมมติภายใน 18 เดือนให้เงินมา ผลตอบแทนจะกี่เท่า กี่เท่า แล้วต้องลงทุน แต่สุขภาพไม่ใช่ คอนเซปท์ startup คือทำสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงในปริมาณที่เล็กๆ ก่อนเพื่อให้มีคนคือนักลงทุนมาสนับสนุน หรืออะไรข้างนอก ทำให้มันโตหากธุรกิจทั่วไปต้องทำให้โตภายในสิบปี เราต้องได้ภายในสองปี แต่ด้านสุขภาพในแง่ธุรกิจมันไม่ได้มีอย่างนั้น มันอยู่ที่คุณค่าที่มันสร้างด้านสังคมต่างหาก อย่างที่ผมบอกมันตีเป็นมูลค่าไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นคอนเซปท์คือ เราทำสิ่งที่อาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากเกิดขึ้นได้ เช่นการแก้ปัญหาการใช้ยาของคนที่ครอบคลุมทุก service provider ทุกคนที่จ่ายยาให้ผู้ป่วย ปล่อยให้กระทรวงทำก็ไม่มีทางเกิด เพราะจะทำแต่ของในกระทรวง ให้โรงพยาบาลกรุงเทพ ทำก็ไม่มีทางเกิด เพราะเขาก็จะทำแต่ของเครือตัวเอง สตาร์ทอัพแบบนี้สามารถทำสิ่งที่ไม่มีคนทำ และทำให้มันเกิดขึ้นได้ แต่ว่าไม่สามารถบอกได้หรอกว่า มันเป็นตัวเลขกี่เท่า  มันแค่ได้กับไม่ได้ เท่านั้นเอง ปัจจัยของ health tech startup เลยไม่สามารถเอาไปเทียบเคียงกับด้านอื่นได้เลย