ในวงการสุขภาพระดับโลก ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ส่งออกพยาบาลมากเป็นอันดับหนึ่ง ว่ากันว่าหนึ่งในสี่ของพยาบาลที่ทำงานนอกประเทศตัวเองทั้งหมดบนโลกใบนี้ เป็นพยาบาลจากประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่พยาบาลสัญชาติฟิลิปปินส์ เดินกันให้ขวักไขว่ในโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศในแถบตะวันตกและตะวันออกกลาง ในประเทศฟิลิปปินส์เองกลับประสบปัญหาการขาดแคลนนางพยาบาลที่จะประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล
บนประเทศหมู่เกาะที่มีประชากรประมาณ 88 ล้านคนแห่งนี้ มีโรงเรียนผลิตพยาบาลมากถึง 175 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาเอกชน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตพยาบาลสำหรับส่งออกเป็นการเฉพาะ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่น่าจะพบเห็นได้ยากในประเทศอื่นคือ นอกเหนือจากนักเรียนพยาบาลของที่นี่จะเป็นเด็กหนุ่มสาวที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับมัธยม ยังพบว่ามีคนที่จบปริญญาตรีสาขาแพทย์ศาสตร์แล้วมาเรียนเป็นจำนวนมาก จากสถิติพบว่านับถึงปี 2003 มีหมอจำนวนถึง 5,500 คนสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนการพยาบาล 45 แห่ง ทั้งนี้เนื่องจากวิชาชีพพยาบาลกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ดังนั้นอาชีพหมอจึงไม่ใช่ใบเบิกทางสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพของฟิลิปปินส์ที่จะไปสร้างชีวิตใหม่ในต่างแดน
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดพยาบาลให้ออกไปทำงานนอกประเทศคือเรื่องของรายได้ ในสหรัฐอเมริกา พยาบาลฟิลิปปินส์สามารถมีรายได้ขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 2,000 เหรียญ หรือประมาณ 85,500 เปโซ ต่อเดือน ไปจนถึง 14,000 เหรียญ หรือเกือบ 6 แสนเปโซ ขณะที่ในฟิลิปปินส์แม้ พ.ร.บ.พยาบาล ปี 2545 จะกำหนดรายได้ขั้นต่ำของพยาบาลไว้ที่ 13,300 เปโซ แต่ในความเป็นจริงมีพยาบาลน้อยคนมากที่จะมีรายได้เท่าที่กฎหมายกำหนด ในเขตต่างจังหวัดบางแห่งพบว่าพยาบาลมีรายได้เพียง 2,000 เปโซเท่านั้น และที่น่าแปลกใจยิ่งสำหรับการประกอบวิชาชีพพยาบาลในฟิลิปปินส์คือ ที่นี่พยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้ต่ำกว่าพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ รายได้เฉลี่ยสูงสุดของพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในฟิลิปปินส์พบว่าอยู่ที่ 12,000 เปโซเท่านั้น จึงไม่แปลกใจที่มีตัวเลขรายงานว่า 85 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณมากกว่า 150,000 คน) ของพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาในฟิลิปปินส์ออกไปทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายการส่งออกพยาบาลซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จะก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบสุขภาพของฟิลิปปินส์เอง
ในปี 2544 มีตำแหน่งพยาบาลว่างในฟิลิปปินส์ถึง 35,000 ตำแหน่ง ชิต เอสเตลล่า (Chit Estella) นักหนังสือพิมพ์ชาวฟิลิปปินส์ เขียนไว้ในบทความที่ชื่อว่า By the World’s Bedside ตีพิมพ์ในวารสาร iReport ว่าเพียงชั่วระยะเวลา 3 ปี นับจากปี 2546-2548 ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลในฟิลิปปินส์ต้องปิดตัวเองลง เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรทั้งหมอและพยาบาล
ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะหาทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลภายในประเทศ มีคนเสนอว่ารัฐบาลควรออกกฎหมายกำหนดว่าก่อนที่จะไปทำงานที่ต่างประเทศพยาบาลจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในประเทศก่อน คล้ายๆ กับเงื่อนไขการให้แพทย์ใช้ทุนในบ้านเรา แต่แนวคิดนี้ก็ได้รับการต่อต้านจากนักเรียนพยาบาล ด้วยเหตุผลสำคัญคือนักเรียนพยาบาลที่ฟิลิปปินส์ต่างก็ควักกระเป๋าจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ดังนั้นสำหรับพวกเขาแล้ว การที่รัฐจะมากำหนดหรือห้ามการไปทำงานในต่างประเทศเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ที่สำคัญค่าเล่าเรียนหลักสูตรการพยาบาลของฟิลิปปินส์ไม่ได้ถูกเลย โดยเฉพาะในสถาบันที่มีจำนวนนักเรียนที่จบหลักสูตรสามารถสอบผ่านการคัดเลือกเพื่อไปทำงานในต่างประเทศได้จำนวนมาก ค่าเล่าเรียนอาจแพงขึ้นไปถึงเทอมละ 60,000 เปโซ สำหรับนักเรียนการพยาบาลและผู้ปกครองแล้ว การเรียนพยาบาลจึงเป็นการลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีกว่า
ในความคิดของคนที่ไปประกอบวิชาชีพพยาบาลนอกประเทศ พวกเขาจึงไม่ใช่คนที่นำความล่มสลายมาสู่ระบบสุขภาพของฟิลิปปินส์ หากแต่เป็นนโยบายของประเทศเองที่ไม่สนับสนุนให้พยาบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพในประเทศได้อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตที่ดีเพียงพอ
มองรอบโลก โดยแม่พลอย
เผยแพร่ครั้งแรก ผีเสื้อขยับปีก เล่มที่ 5
แหล่งข้อมูล
- By the World’s Bedside โดย Chit Estella ตีพิมพ์ใน iReport ฉบับที่ 2 Nursing the World
- Trends in International Nurse Migration โดย Linda H. Aiken และคณะ ตีพิมพ์ในนิตยสาร Health Affairs ฉบับที่ 123 ปี 2004
ภาพที่มา: www.inscol.com