พระสงฆ์ในระบบบริการสุขภาพ

Home / บทความทั้งหมด / E-MAGAZINE / พระสงฆ์ในระบบบริการสุขภาพ
พระสงฆ์ในระบบบริการสุขภาพ

ภาพ: คิลานธรรม

เป็นเวลานานแล้วที่พระสงฆ์ นักบวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดบทบาทตัวเองในการโปรดญาติโยมอยู่ที่การขึ้นธรรมาสน์เทศนาบรรยายธรรม เราได้เห็นพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเดินเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อโปรดญาติโยมที่นอนรักษาอาการป่วยไข้ ช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญการรักษาทางกายมากกว่าการดูแลสภาวะจิตใจของผู้ป่วย จนกลายมาเป็นกำลังสำคัญกลุ่มหนึ่งในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ผีเสื้อขยับปีกฉบับนี้ พาทุกท่านร่วมสนทนาธรรมกับพระสงฆ์ที่เข้ามามีบทบาทในระบบสุขภาพ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายตามความสนใจของตนเองและความต้องการของระบบบริการสุขภาพ

คิลานธรรม สันติภาวัน คิลานุปัฏฐาก (นครศรีธรรมราช) คือกลุ่มของสงฆ์ 3 กลุ่มที่เมตตาให้โอกาสผีเสื้อขยับปีกได้สนทนาธรรมว่าด้วยบทบาทสงฆ์กับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกำลังคนในระบบสุขภาพ

คิลานธรรม ใช้ธรรมเพื่อคลี่คลายปมในใจผู้ป่วย

คิลานธรรมเป็นกลุ่มของพระนิสิตที่เรียนสาขาวิชาชีวิตและความตาย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) เน้นการทำงานด้านจิตวิทยาการปรึกษาให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาล เป็นการเยียวยาใจของผู้ป่วยมุ่งเน้นให้คำปรึกษาที่ทำให้ผู้ป่วยรักษาใจของตนเองไม่ให้ทุกข์ตามการป่วยของร่างกาย โดยมีคติสำคัญที่ให้ผู้ป่วยทุกคนพึงระลึกเสมอคือ “การรักษากายเป็นหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล การรักษาใจเป็นหน้าที่ของตัวเราเอง”

พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ แห่งวัดสังเวชวิศยาราม รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มจร. อดีตพระนิสิตรุ่น 1 ของสาขาชีวิตและความตายเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มคิลานธรรมตั้งแต่ปี 2550 ในระหว่างฝึกงานให้คำปรึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียน ระหว่างนั้นนอกจากการฝึกงานตามหลักสูตรของสาขาวิชาแล้วท่านยังสมัครเป็นอาสาสมัครเยี่ยมไข้ให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย จากการเยี่ยมผู้ป่วยแต่เพียงรูปเดียว ขยายมาสู่การชวนเพื่อนพระที่เรียนชีวิตและความตายด้วยกันมาเข้าร่วม ขยายสู่เพื่อนพระภายนอกที่สนใจกิจกรรมนี้ จนปัจจุบันคิลานธรรมมีพระสมาชิกถึงประมาณ 40 รูป

เงื่อนไขสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มคิลานธรรมคือต้องเกิดจากความต้องการของญาติและตัวผู้ป่วยเอง ที่จะประสานกับโรงพยาบาลว่าต้องการนิมนต์พระสงฆ์ไปสนทนาธรรม และแน่นอนการสนทนาธรรมต้องไม่ใช่หมายถึงการมุ่งสอนการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา หรือการให้ยอมรับในกฎแห่งอนิจจัง ที่ไม่มีใครหนีการป่วย การตายไปได้ หากต้องเป็นการพูดคุยที่สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้ป่วยในขณะนั้น

อาตมามองเห็นว่าคนป่วยเขามีความทุกข์อยู่ในใจด้วย  ไม่ใช่แค่ทุกข์ทางกายที่เขามาให้หมอรักษา ก็เลยใช้ความเป็นพระเข้าไปช่วยเขา ไปชวนเขาคุย ค้นหาว่าทุกข์ในใจของเขาคืออะไร บางทีสิ่งที่กวนใจผู้ป่วยจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของความเป็นความตาย แต่เป็นเรื่องครอบครัว ห่วงลูกห่วงหลาน ทำไมคนนั้นไม่มาเยี่ยม การคาใจที่ลูกหลานขัดแย้งกันอยู่ เราเข้าไปคลายปมให้เขา คุยกับลูกกับหลานเขาด้วย หลายครั้งเลยที่เราทำให้แม่ลูกเข้าใจกัน

นอกจากการเยี่ยมไข้ผู้ป่วยโดยตรงแล้วคิลานธรรมยังเน้นการจิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ โดยมีทั้งการให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาจิตที่บุคลากรทางการแพทย์อาจยังมีความเข้าใจไม่ครอบคลุม และการฝึกอบรมพระเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาทางจิตให้กับผู้ป่วย โดยเริ่มอบรมในปี 2558 จนปัจจุบันมีพระที่ผ่านการอบรมประมาณ 130 รูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระในต่างจังหวัด เพื่อนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ไปใช้กับคนป่วยในจังหวัดของตน บทบาทของพระในระบบสุขภาพจึงแพร่กระจายไปมากขึ้น

บทบาทของพระคิลานธรรมได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบสุขภาพสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ล้วนมีการประสานงานและดำเนินกิจกรรมร่วมกับพระคิลานธรรมเพื่อสร้างเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนี้องค์กรแพทยสภายังเข้ามาช่วยเติมเต็มความรู้ทางการแพทย์ให้กับพระด้วย“ต้องยอมรับว่าอาการป่วยของผู้ป่วยบางกลุ่มโรคมีความเฉพาะเจาะจงที่พระเราไม่เข้าใจ เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ภาวะจิตจะแตกต่างจากคนป่วยทางการอื่นๆ และจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อการดูแลทางจิตใจด้วย แพทยสภาได้เข้ามาช่วยเติมให้พระสงฆ์ในเรื่องนี้” พระมหาสุเทพกล่าว

ปัจจุบันพระคิลานธรรมปฏิบัติงานในโรงพยาบาล 6 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดตามเรื่องราวของพระคิลานธรรมได้ที่เพจ https://web.facebook.com/gilanadhamma/

ภาพ: คิลานธรรม

 

สันติภาวัน เพื่อการลาจากอย่างเคารพสิกขาบทของพระอาพาธระยะท้าย

ภาพ: สันติภาวัน

พระอาพาธในระยะท้ายไม่มีใครดูแล โรงพยาบาลต้องส่งออก จะกลับบ้านก็ไม่สะดวก สังคมสงเคราะห์บอกว่ารับดูแลได้ แต่ต้องสึก เราก็นั่งนึกว่าทำไมพระที่อุทิศตัวเพื่อพระพุทธศาสนามานานถึงไม่ได้รับการดูแลจากพระพุทธศาสนา

พระวิชิต ธมฺมชิโต แห่งวัดป่าสุคโต ผู้เริ่มคิดและรับผิดชอบโครงการสันติภาวัน สถานดูแลภิกษุอาพาธระยะท้าย บอกเล่าสถานการณ์ยากลำบากของนักบวชในพระพุทธศาสนาในยามที่เดินทางถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

พระสงฆ์เป็นบุคคลที่มีความเฉพาะเนื่องจากต้องใช้ชีวิตภายใต้สิกขาบทถึง 227 ข้อ แม้ในยามอาพาธการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสิกขาบทยังเป็นที่พึงปรารถนา การดูแลพระอาพาธจึงต้องมีความเฉพาะเจาะจงให้สอดคล้องกับวิถีสมณะ ซึ่งถ้าจะดีที่สุดคือพระภิกษุดูแลกันเอง พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฏกข้อหนึ่งว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล” (วินย.๕/๑๖๖)

“พระจะมาบอกว่าวัดไม่สามารถดูแลพระป่วยได้ ไม่มีคนดูแล ประโยคนี้พูดไม่ได้นะ หากพูดคำนี้ออกไปพระทั้งวัดต้องอาบัติ เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้ว่าหากไม่มีพระสงฆ์รูปใดดูแลภิกษุอาพาธ ท่านปรับอาบัติพระทั้งวัด ตรงนี้ทำให้พระต้องทำหน้าที่นี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทุกวันนี้เราต้องเข้าใจว่าวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ บางคนต้องเปลี่ยนสายโน่น นี่ แผลกดทับก็มีเยอะ จะให้พระทุกวัดสามารถทำหน้านี้ได้ก็ลำบากอยู่” หลวงพี่บอกเล่าข้อจำกัดของภิกษุในการดูแลพระอาพาธ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่นำสู่การก่อเกิดของสันติภาวัน สถานดูแลพระอาพาธระยะท้าย แห่งวัดป่าสุคโต

ประสบการณ์และความรู้ของการเป็นเภสัชกร และความเข้าใจมนุษย์ที่สั่งสมจากการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาการแพทย์ ก่อนจะเข้าสู่เพศบรรพชิต ประกอบกับการที่วัดป่าสุคโตมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในวงการสาธารณสุขจำนวนไม่น้อย ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับหลวงพี่วิชิต หลวงพี่เล่าว่าเริ่มมองเห็นจริงๆ ที่จะต้องมีสถานพยาบาลสำหรับพระอาพาธระยะท้ายในวัดเพื่อปิดช่องห่างระหว่างวัดและโรงพยาบาลในปี 2562 เมื่อท่านต้องเฝ้าปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ที่นอนอาพาธในโรงพยาบาลสงฆ์ แล้วมีคำถามจากพยาบาลอย่างต่อเนื่องว่าทำอย่างนั้นได้หรือไม่ อย่างนี้ได้หรือไม่ ท่านจึงเขียนแนววิธีปฏิบัติในการดูแลพระอาพาธที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย ที่เอื้อให้บุคลากรในระบบสุขภาพดำเนินการได้มอบให้โรงพยาบาล ซึ่งต่อมามีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้แจก

“เราพบว่ามีโอกาสที่พระจะต้องอาบัติเยอะมากระหว่างการรับบริการในโรงพยาบาล จึงคิดว่าเมื่อวาระท้ายแห่งท่านเดินทางมาถึง เราควรเอื้อให้ท่านยังสามารถดำรงตนในพระธรรมวินัย สามารถปฏิบัติธรรมให้มีความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณได้”

สันติภาวันเกิดขึ้นโดยความเห็นชอบของพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคโต เบื้องต้นตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดป่าสุคโต และเพิ่งมีการย้ายไปที่บริวเณเขาสอยดาว จ.จันทบุรี ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีโยมที่เห็นความงดงามของภารกิจแห่งสันติภาวันบริจาคที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้ สามารถรองรับพระอาพาธระยะท้ายได้ 5 รูป

“ทีแรกเราคิดว่าพระจะมาอยู่กันเยอะ แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่เลย ตั้งแต่เปิดดำเนินการมาเรามีพระมาอยู่รูปเดียว เป็นพระที่คุณสมบัติไม่ตรงกับข้อกำหนดของเราด้วย แต่มีเหตุให้ท่านต้องย้ายที่อยู่ระหว่างอาพาธ มีพระอีกหลายรูปที่อยากมาอยู่กับเราและเป็นพระที่อาพาธระยะท้ายจริงๆ แต่ไม่สามารถมาได้ เพราะลูกหลาน ญาติโยมไม่อยากให้มา มรณภาพ 4-5 รูปแล้ว ระหว่างเจรจากันเพื่อให้ท่านมาอยู่ที่นี่ เราจึงพบความจริงว่าการที่พระจะมาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย”

สันติภาวันสถานพำนักภิกษุอาพาธระยะท้าย นอกจากทำให้พระอาพาธได้รับการดูแลตามหลักสิกขาบทแล้วยังแบ่งเบาภาระกำลังคนในระบบสุขภาพ/ ภาพ: สันติภาวัน

เงื่อนไขสำคัญที่พระอาพาธจะจำวัดที่สันติภาวันได้คือต้องอาพาธในระยะท้ายจริงๆ ไม่ใช่ความต้องการบริการสุขภาพระยะยาว “จริงๆ ก็แบ่งยากระหว่าง long term care กับ palliative care แต่เราก็พยายามเลือก บทบาทของเราไม่ใช่โรงพยาบาล ท่านที่คิดว่าจะมาอยู่กับเราเพื่อรักษาหวังว่าจะดีขึ้นเราไม่รับ ที่ไม่ใช่ที่รักา เราไม่มีแพทย์ดูแลประจำ หรือบางท่านเป็น stroke มาเราก็รับไม่ไหว เพราะการป่วยติดเตียงอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกหลายปี เราดูแลไม่ไหว ท่านที่จะมาอยู่กับเราคือท่านที่ไม่คาดหวังที่จะหาย เราดูแลท่านอย่างประคับประคอง หากมียาเก่าติดตัวมาเราก็ให้ท่านรับยาเก่าต่อไป”

ปัจจุบันบุคลากรของสันติภาวันคือพระในวัดป่าสุคโตจำนวน 3-4 รูป มีพระจากต่างวัดและโยมจำนวนหนึ่งสมัครมาเป็นจิตอาสาด้วย ซึ่งหลวงพี่วิชิตกล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาความเหมาะสมกันต่อไป

“หากจะรับก็ต้องด้วยแนวคิดว่าไม่ได้มาอาสาทำงาน แต่เป็นการมาปฏิบัติธรรมด้วยการดูแลพระอาพาธ ให้พระท่านเป็นครูสอนเรา การดูแลคนป่วยระยะท้ายไม่สนุกนะ ต้องเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว หากมองว่าเราอาสามาทำงานด้วยแนวคิดจิตอาสาที่เราคุ้นเคยกันอาจจะไม่เหมาะกับสถานที่แห่งนี้ เพราะอาจมีการมองว่าเรามีพาวเวอร์นะ เราเป็นผู้เสียสละนะ แต่หากปรับตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติธรรมมาเรียนรู้จากพระที่นอนป่วย ก็อาจจะได้”

พระสันติภาวัน เชื่อมโยงการทำงานกับพระคิลานธรรมบ้างโดยการส่งพระไปร่วมอบรม และเรียนรู้การทำงานด้านการให้คำปรึกษา ติดตามเรื่องราวของสันติภาวันได้ที่ https://web.facebook.com/santibhavan/

พระคิลานุฏฐาก จ.นครศรีธรรมราช จากอุปัฏฐากพระสู่อุปถัมภ์โยม

พระคิลานุปัฏฐาก เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาเถรสมาคม, สสส, สปสช. และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยเบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ที่เสื่อมถอยจากกการฉันภัตตาหารที่ญาติโยมนำมาถวาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอาหารที่ไม่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี พระมหาบวร ปวรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบุญนารอบ อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช สามารถพาให้พระคิลานุปัฏฐากในพื้นที่ของตนเองไปไกลกว่าที่หน่วยงานของรัฐวางแผนไว้

เริ่มต้นจากการอบรมเพื่อการดูแลสุขภาพของตนเองกับ สปสช. พระมหาบวร ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเทศบาลนครศรีธรรมราช จัดอบรมพระภิกษุในจังหวัดที่ต้องอุปัฏฐากพระร่วมวัดที่อาพาธ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการอุปัฏฐากพระ เพื่อให้สามารถดูแลพระอาพาธได้ถูกต้องตามหลักการแพทย์

“พระอาพาธส่วนใหญ่จะเป็นพระชรา และพระดูแลที่เข้ามาอบรมกับเราก็จะเป็นพระลูกศิษย์ เราก็ส่งหนังสือไปตามวัดต่างๆ ว่าจะมีการอบรมทางวิชาการร่วมกับโรงพยาบาลนะ ใครสนใจส่งพระในวัดตัวเองมาอบรมก็เชิฐ ระยะเวลาอบรมก็ประมาณ 5-7  วัน”

เริ่มจากการอบรมเฉพาะพระที่ต้องมีหน้าที่อุปัฏฐากพระในวัด ขยายสู่ภิกษุทั่วไป โดยหลักสูตรส่วนใหญ่เป็นความรู้ทั่วไปที่เป็นพื้นฐานจำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วย เช่น การวัดความดัน ความรู้ด้านกายภาพบำบัด การเลือกอาหาร ไปจนถึงทักษะด้านการรับมือกับเหตุฉุกเฉินเช่นการทำ PCR

ไม่เพียงแต่จัดอบรม พระมหาบวร ในฐานะผู้รับผิดชอบพระคิลานุปัฏฐาก ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ปรับปรุงวัดบุญนารอบให้เป็นสถานที่รองรับพระอาพาธจากวัดอื่นที่ต้องเดินทางมารับบริการสุขภาพในโรงพยาบาลเทศบาลนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัด รวมถึงโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช โดยทางวัดจัดที่พักรับรองไว้ให้ เพื่อให้พระที่เดินทางมาถึงก่อนวัดนัดจะได้ไม่ลำบาก

“เป็นเรื่องของการอำนายความสะดวกพระท่านด้วย พอคนรู้ก็จะเอาวัสดุอุปกรณ์เอาเตียงที่คนป่วยจำเป็นต้องใช้มาบริจาคให้วัดอีก”

จนปัจจุบันนอกจากบริการให้พระสงฆ์แล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถูกนำมาให้บริการโยมที่ป่วยและขัดสนเรื่องที่อยู่อาศัย และคนดูแล โดยทางวัดรับดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีญาติดูแล และเปิดรับอาสาสมัครฆราวาสมาช่วยดูแลคนกลุ่มนี้อีกทีหนึ่ง

“ช่วงหลังมาไม่ค่อยมีพระป่วย เราจึงให้บริการโยมด้วย แต่รับเฉพาะโยมผู้ชาย ถ้าคนป่วยจากนอกเขตพื้นที่ อาตมาต้องให้ทำเรื่องย้ายโอนทะเบียนบ้านเข้ามาที่วัดเลย เพื่อให้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 30 บาท กับโรงพยาบาลเทศบาลฯ ได้”

ปัจจุบันวัดบุญนารอบทำหน้าที่ประหนึ่ง  Day Care ให้กับระบบบริการสุขภาพของเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช คือการรับฝากผู้ป่วยติดเตียงที่ญาติไม่สะดวกดูแลในเวลากลางวัน ก็จะนำมาฝากที่วัด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการรับบริจาคอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ที่มักมีคนมาบริจาคซึ่งพระมหาบวร ก็จะนำไปส่งต่อให้คนไข้ที่ต้องการ

“วัดกับชุมชนต้องอยู่ร่วมกัน เวลามีงานในวัดชุมชนก็มาช่วย วัดมีสถานที่เราก็เอาสถานที่มาให้ชุมชนใช้ เอาลูกศิษย์ที่เรามีมาช่วยงานชุมชน” พระมหาบวรกล่าว

ในบริบทสังคมที่ซับซ้อนการทำงานร่วมกันระหว่างวัดและสถานพยาบาล พระและบุคลากรในระบบสุขภาพเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย คิลานธรรม สันติภาวัน คิลานุปัฏฐาก เป็นเพียงตัวอย่างของพระสงฆ์ 3 กลุ่มที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในระบบบริการสุขภาพ มีพระสงฆ์อีกจำนวนมากที่ให้เข้ามาร่วมเติมเต็มการทำงานของระบบสุขภาพไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นและปิดช่องโหว่ที่มีอยู่ให้น้อยลง ผีเสื้อขยับปีกไม่สามารถกล่าวถึงบทบาทของพระทุกรูปทุกกลุ่มได้ในพื้นที่อันจำกัดนี้ บทบาทของสังฆ์ในระบบสุขภาพเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทุกคนสามารถเป็นกำลังสำคัญในระบบสุขภาพได้