เมื่อ Living Will ของผู้ป่วยสวนทางกับความหวังของญาติ บุคลากรทางการแพทย์จะตัดสินใจอย่างไร
มองในทางกฎหมายคำถามนี้ไม่ควรตอบยาก เพราะ Living Will หรือพินัยกรรมชีวิต อันหมายถึงการที่ผู้ป่วยแสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่าจะไม่ขอรับการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” แต่ในทางปฏิบัติพบว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการโดยเฉพาะเมื่อมีความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างญาติผู้ป่วยกับแพทย์ คือญาติต้องการยื้อชีวิตผู้ป่วย ขณะที่แพทย์อยากทำตามความประสงค์ของผู้ป่วยซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการต้องถูกญาติผู้ป่วยฟ้องร้องในภายหลัง กลายเป็นความลำบากใจของแพทย์และเรียกร้องให้มีการทำ guideline ให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูก
ดร.สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักงานประธานศาลฎีกา ให้ความเห็นทางกฎหมายต่อ living Will ไว้ว่า เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะกำหนดวาระสุดท้ายของตนเองว่าต้องการเสียชีวิตแบบใดซึ่งถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการจะตอบคำถามว่าถ้าหมอยุติการรักษา ถอดเครื่อพยุงชีพแล้วคนไข้เสียชีวิตต้องรับผิดทางกฎหมายหรือไม่ ดร.สุรสิทธิ์ให้สังคมช่วยกันใช้วิจารณญาณร่วมกัน โดยพิจารณาเหตุการณ์จากต่างประเทศประกอบ โดยได้ยกตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นในเยอรมันในปีที่ผ่านมา ที่ญาติผู้ป่วยฟ้องแพทย์ที่ยุติการให้อาหารทางสายกับผู้ป่วยซึ่งมีอาการโคม่าและไม่รู้สึกตัว โดยศาลตัดสินว่าแพทย์ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ขณะที่ ร.ต.ท. ดร. อุทัย อาทิเวช อัยการพิเศษฝ่ายกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด มองว่า มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพแล้ว แต่การดำเนินการต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งแพทย์ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ชัดเจน
มาตรา 12 ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ถูกตราขึ้นบนฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยระยะท้ายทุกคน ให้สามารถเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ตายไปบนความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ เปิดโอกาสให้ได้รับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงท้ายของชีวิต แต่ในทางปฏิบัติแล้วแม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้มานานกว่าหนึ่งทศวรรษ แต่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในบ้านเราจำนวนมากยังไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ข้อมูลจากสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 18 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจัดเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 17 ที่ได้รับการดูแลระยะท้ายแบบประคับประคอง (palliative care)
“การสำรวจในห้องไอซียู พบว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในห้องไอซียู 50 เปอร์เซ็นต์และในหอผู้ป่วยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ไม่รู้ภาวะตัวเอง แล้วก็ต้องกลับมานอนรอความตายด้วยเครื่องพยุงชีพ ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานทั้งผู้ป่วย ญาติ และต่อระบบสุขภาพ ถ้ามีการดูแลที่เป็นการรักษาสมดุลระหว่างผู้ป่วยและครอบครัว สร้างความสัมพันธ์ที่ดี กฎหมายก็ไม่จำเป็น เพราะเราไม่ได้มีเจตนาให้เขาตาย แต่เราต้องการปลดเปลื้องความทรมานและให้เขาตายตามธรรมชาติ” รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าว
รศ.พญ.ศรีเวียง เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำแนวทางปฏิบัติหรือ guideline เพื่อให้แพทย์ยึดเป็นแนวในการปฏิบัติตามมาตรา 12 “ในขณะที่ยังไม่มี guideline โรงพยาบาลต่างๆ ควรมีคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อพิจารณาปัญหาในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือญาติขัดแย้งกัน ก็ส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณา โดยให้มีหลายฝ่ายเข้ามาพิจารณาร่วมกัน พิจารณาแล้วถ้าญาติไม่พอใจ คณะกรรมการต้องตกลงและปรึกษากับญาติคนไข้ไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้”
หมายเหตุ เก็บความจากการเสวนาหัวข้อ “สิทธิปฏิเสธการรักษาในระยะสุดท้ายของชีวิตกับปัญหาในทางปฏิบัติ” งานวิชาการรำลึก ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ 16 มีนาคม 2562 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง เพ็ญนภา หงษ์ทอง
วารสารผีเสื้อขยับปีก ฉบับเดือนมีนาคม 2562 – รายงานพิเศษ หน้า 6
ดาว์นโหลดวารสาร