กว่า 1 ปีครึ่ง ที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเชื้อโควิด – 19 แม้รัฐบาลจะพยายามสรรสร้างมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่สถานการณ์กลับรุนแรงมากขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตรายวันสร้างสถิติ new hi อยู่บ่อยครั้ง บานปลายกลายเป็นวิกฤติของระบบสุขภาพที่จำนวนผู้ติดเชื้อมากเกินกว่าศักยภาพของทรัพยากรที่มี
เกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด – 19 ของรัฐไทย สมมติฐานเบื้องต้นน่าจะมีอะไรบางอย่างขาดหายไป หรืออะไรบางอย่างเกินมา เพ็ญนภา หงษ์ทอง พาทุกคนไปตามหาส่วนที่หายไปในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด – 19 ของรัฐไทย กับ ดร. บุษบงก์ วิเศษพลชัย นักมานุษยวิทยาการแพทย์ แห่งสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ผู้กำลังคร่ำเคร่งกับการศึกษามิติทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนเปราะบางเพื่อพัฒนาแนวทางป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้
ในฐานะนักมานุษยวิทยาทางการแพทย์มองการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด -19 ของรัฐไทยอย่างไร
เรารับมือเรื่องนี้ด้วยการหล่อเลี้ยงความกลัวมาโดยตลอด การควบคุมโรคระบาดหลายครั้งเราใช้ความกลัวในการคุมโรค มันมีทฤษฎีทางมานุษยวิทยาทฤษฎีหนึ่ง คือ Purity and Danger มีหนังสือชื่อนี้ออกมาเลยนะ รัฐใช้ตรงนี้มาแบ่งคนตลอด อะไรคือคนบริสุทธิ์ อะไรคือคนอันตราย ใช้นโยบายแบบนี้ในการคุมโรคระบาดร้ายแรงในอดีตมาตลอด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเอดส์ ถ้าเราจำได้เอดส์มาถึงเมืองไทยประมาณปี 2532 ตอนนั้นรัฐใช้ความกลัวในการจัดการโรคเอดส์ ทำให้เห็นว่าเอดส์เป็นโรคน่ากลัว คนติดเอดส์เป็นคนอันตราย ที่ก่อให้เกิดการตีตราคนไข้ ทำร้ายผู้คนไปมากมาย แล้วรัฐก็ใช้ความกลัวในการบริหารจัดการโควิด -19 อีก ถ้าเป็นเมื่อร้อยปีก่อนเราอาจใช้ความกลัวจัดการโรคระบาดได้แต่ในปัจจุบันเราใช้สิ่งนั้นไม่ได้แล้ว ในอดีตเราใช้ความกลัวได้เพราะการเข้าถึงความรู้มันไม่แพร่หลาย แต่ปัจจุบันการเข้าถึงความรู้มันต่างออกไป
สมัยนี้พอเราใช้ความกลัวในการคุมโรค ไม่ใช้ความรู้นำ มันก็เชื่อมโยงไปถึง trust การใช้ความกลัวในการควบคุมโรคระบาดมันทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐลดลง พอคนเข้าถึงชุดความรู้อื่นเขาไม่เชื่อคุณอีกต่อไปแล้ว
ถือเป็นเรื่องผิดไหมในการเอาความกลัวมาใช้
มันก็ไม่ได้ผิดขนาดนั้น เพราะมันก็เป็นโรคเกิดใหม่ ทุกคนไม่มีใครมีความรู้เกี่ยวกับมันมาก่อน ช่วงแรกคนยังไม่มีความรู้ ความกลัวจึงเกิด แต่ช่วงหลังความรู้มันเกิดขึ้นแล้ว ก็เอาความรู้มานำได้ แต่พอมันไม่ใช้ มันก็โยงมาสู่ความไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ประการที่สองที่มองเห็นคือรัฐบริหารจัดการผิดพลาด เกิดจากการอยู่กับเลขศูนย์ปลอม มันทำให้หลอกตัวเอง และทำให้ประมาทในการบริหารจัดการวัคซีนในปัจจุบัน ถ้าเราจำได้โรคนี้เข้าไทยเดือนมกราคม 2563 มาพร้อมนักท่องเที่ยวชาวจีน หลังจากนั้นระเบิดตูมครั้งแรกกรณีสนามมวย เราก็ประกาศ lock down กรุงเทพฯ ครั้งแรกวันที่ 22 มีนาคม 2563 มาถึงวันที่ 13 พฤษภาคม ตอนติดเชื้อเป็นเลขศูนย์ครั้งแรก เราแทบจะเฉลิมฉลอง แทบจะจุดพลุกันเลย มันก็ทำให้เกิดความชะล่าใจในการรับมือครั้งต่อไป เลขศูนย์แปลว่าอะไร แปลว่าไม่มีการติดเชื้อหรือ ทั้งที่เรารู้ว่ามันเป็นศูนย์ปลอม เพราะหลังจากนั้นมันมีการติดเชื้อมาตลอด การพูดว่าการติดเชื้อเป็นศูนย์มันไม่ได้หลอกแค่ประชาชน แต่มันหลอกตัวรัฐบาลเองด้วย เวลาเราหลอกคนอื่น เราพูดเรื่องโกหกมากๆ เราก็จะเชื่อสิ่งนั้นไปด้วยโดยปริยาย
ต้องบอกก่อนว่านักมานุษยวิทยาเรามองทุกอย่างเป็นระบบ ต่อให้เราพูดเรื่องเวลามันก็ไม่ใช่เป็นเส้นตรง มันโยงใยไปหมด เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการบริหารจัดการวัคซีนในปัจจุบันนี้ เราเชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับวันที่ 13 พ.ค. 63 ถ้าจำได้ช่วงหลังจากนั้นมันมีรายการติดเชื้อที่โน่นนิด ที่นี่หน่อย มาตลอด มีทางแม่สอดเข้ามา แล้วก็มาตูมอีกทีตอนเดือนกรกฎาคมที่ทหารอียิปต์มาฝึกที่ระยอง แล้วไปเดินห้างกัน ตอนนั้นระยองแทบจะล่มสลาย การท่องเที่ยวแทบจะปิดตัว จะเห็นว่าพี่จำวันที่ได้หมด เพราะวันที่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเบลอๆ ไม่มีไทม์ไลน์ของมัน มันทำให้มองไม่เห็นเส้นทางที่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ของมัน เราไม่สามารถรับมือกับเรื่องข้างหน้าโดยลืมอดีตทั้งหมดได้ หากอ่านงานทางมานุษยวิทยาจะเห็นเลยว่า บทแรกๆ จะเป็นการไล่ประวัติศาสตร์ไทม์ไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักมานุษยวิทยา นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าเราในปัจจุบันเป็นผลมาจากอดีต เหตุการณ์มันเป็น sequence เชื่อมต่อกับเรื่องราวในปัจจุบันมีร่องรอย หรือรอยต่อจากประวัติศาสตร์เสมอ พอเรามาไล่เรียง timeline ของโควิดแล้ว มันเห็นเลยว่าการตัดสินใจของรัฐในแต่ละช่วงเวลาเหมือนไม่ได้เอาบทเรียนในการระบาดแต่ละครั้งมาถอดเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนรับมือกับระลอกสองก็ไม่เรียนรู้จากระลอกหนึ่ง ตอนรับมือกับระลอกสามก็ไม่เรียนรู้จากระลอกหนึ่งระลอกสอง ราวกับว่าเราตัดรอยต่อจากอดีตไปเลย
ประการที่สาม พี่ว่าเราช้ากว่าสถานการณ์ก้าวหนึ่งเสมอ โรคนี้ปัจจัยสำคัญสุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของมันคือ social distancing ใครก็จินตนาการได้ว่าถ้ามันระบาดในชุมชนแออัดมันจะเป็นยังไง ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างมันจะเป็นยังไง โรคนี้ไม่เหมือนอหิวาต์ ไม่เหมือนกับโรคอื่นที่ผ่านมา โรคนี้สิ่งสำคัญคือการรักษาระยะห่าง การอยู่แบบตัวใครตัวมัน แค่นี้เราก็รู้แล้วว่าถ้าโรคมันเข้าถึงจุดไหนบ้างที่มันจะวินาศสันตะโร แต่ทำไมเหมือนเราไม่คิดกับมันล่วงหน้าก่อนเลย
ถ้าสมมติว่าเราเร็วกว่ามันก้าวหนึ่ง จริงๆ เราชี้จุดได้ตั้งแต่การระบาดระลอกแล้วเลยว่าจุดไหนที่เราควรลงไปป้องกันมันก่อน งานวิจัยพี่ทำที่ทำในสมุทรสาคร พี่ขอทุน วช. ตั้งแต่เดือนตุลาเลยนะ ตอนนั้นเหตุการณ์ยังสงบสุข พี่ทำวิจัยในห้าพื้นที่ พื้นที่แรกคือคลองเตย ต่อมาสมุทรสาคร ที่พี่ทำตั้งแต่ตอนที่ตลาดกุ้งยังไม่ระบาด พื้นที่สามคือสงขลา ซึ่งตอนนี้พินาศไปแล้ว พื้นที่สี่คือเชียงใหม่ และห้าขอนแก่น โดยเน้นไปที่ชุมชนแออัดในแต่ละที่ เพราะเรารู้สึกว่าถ้ามันระบาดในจุดต่างๆ มันจะหนัก ตอนนั้นพี่รู้สึกว่าเราควรจะเร็วกว่าไวรัสก้าวหนึ่ง
ที่คลองเตยพี่ลงพื้นที่เดือนมกราคม ตอนนั้นยังไม่มีอะไร ทองหล่อเริ่มเกิด 29 มีนา มาตูมตามช่วงก่อนสงกรานต์ ตอนนั้นคนคลองเตยก็ลุกขึ้นมาพยายามทำอะไร เคสแรกของคลองเตยที่พี่รับรู้คือคืนวันที่ 16 เมษา ชาวชุมชนที่สนิทกับเราโทรมาหาตอนเกือบสี่ทุ่มว่า อาจารย์แย่แล้วมีคนไข้ติดเชื้อในชุมชนโรงพยาบาลให้กักตัวที่บ้าน ตอนนั้นคลองเตยยังไม่อยู่ในสายตาผู้คน ยังไม่มีใครคิดว่าคลองเตยจะระบาด ก็ให้มากักตัวที่บ้าน แต่เนื่องจากมันเป็นชุมชนแออัด คนไข้ก็ไม่กล้ากลับบ้าน เขากลัวไปติดคนในบ้าน ก็เลยไปกักตัวที่รถ 2 คืน จนน้ำมันรถหมด คนในชุมชนเองก็ไม่รู้จะรับมือกับมันยังไง มันไม่มีการเตรียมแผนรับมือไว้ก่อน
แล้วมองไม่เห็นอะไรในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดของรัฐบาลบ้าง
หนึ่ง รัฐมองไม่เห็นความสลับซับซ้อนของประชาชน รัฐไม่ได้ลงในรายละเอียดของความแตกต่างหลากหลาย เช่น การพูดว่าแรงงานข้ามชาติทุกครั้งจะพูดราวกับว่าแรงงานข้ามชาติทั้งหมดเพิ่งข้ามพรมแดนมาเมื่อวานนี้ อะไรแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าคุณมาคุยกับที่ตลาดกลางกุ้ง บางคนใช้ชีวิตในเมืองไทยนานกว่าที่อยู่ในพม่าอีก มาตั้งแต่ 8-8-88 (วันที่ 8 สิงหาคม 1988 ที่รัฐบาลทหารพม่าปราบปรามนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย – ผู้สัมภาษณ์) เขามาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็อยู่ที่นี่มาโดยตลอด บางคนอยู่นานกว่าคนไทยอีก เด็ก ม. 3 คนไทยยังอยู่ที่นี่มาน้อยกว่าแรงงานข้ามชาติพวกนี้ เพราะตอนเขามาเด็กพวกนี้ยังไม่เกิดเลย เวลาเราพูดถึงแรงงานข้ามชาติแค่นี้รัฐก็ไม่เห็นความหลากหลายของแรงงานข้ามชาติที่ซ่อนอยู่แล้ว พูดถึงแบบแบนราวกับเขาเพิ่งข้ามมาเมื่อวาน อันนี้เป็นอันแรกที่รัฐบาลมองไม่เห็น
พอรัฐบาลมองไม่เห็นความสลับซับซ้อนแบบนี้ เวลาออกมาตรการต่างๆ มันก็เลยอกมาแบบเหมารวมมาก เป็นเสื้อโหล ปัญหาของเสื้อโหลคือมันใส่พอดีแค่ไม่กี่คน มันก็จะไม่ใช่อะไรที่สามารถกุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่มันใหญ่อย่างโรคระบาดที่มันต้องการเสื้อผ้าที่พอดีตัว
สอง มองไม่เห็นการมีส่วนร่วมของชุมชน รัฐจัดการสถานการณ์ปัญหาแบบไม่ดึงชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย
การมีส่วนร่วมของชุมชนควรเป็นแบบไหน อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างรูปธรรม
ก็ชวนเขามาออกความเห็น ถ้าระบาดในชุมชนจะทำยังไงกัน ชุมชนส่วนใหญ่เขามีต้นทุน เช่น คลองเตยมีวัดสะพาน ที่สามาถเปิดเป็นศูนย์พักคอยขึ้นมาได้ หรือสมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้ง ที่อยู่ดีๆ ปิดล็อคเลย เขาก็มีทุนทางสังคม ตลาดกลางกุ้งมีคนประมาณ 3-4 พันคน วันที่ประกาศปิดตลาดกลางกุ้ง ประมาณกลางธันวาคมเจ้าหน้าที่ของสมุทรสาครไม่ได้มีมากมาย ในตลาดกุ้งมีคนทำงานหลักคือพี่มานะสาธารณสุขอำเภอเมือง กับน้องกิตติพยาบาลที่พูดพม่าได้ คนในตลาดกลางกุ้งเองที่ลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครกว่าสองร้อยคน เราไม่ได้ยินเรื่องเหล่านี้เลยนะ แล้ววันนี้ตลาดกลางกุ้งมันสงบ คนเหล่านี้ทำอะไร วันนี้พี่เพิ่งไปดูเขามา เขารับบริจาคกระเจี๊ยบสด เขียวๆ ที่เอามาต้มกินกับน้ำพริก เพื่อไปแจกชุมชนอื่นรอบๆ ที่โดนกักตัว แรงงานข้ามชาติพวกนี้แหละเอารถไปขนมาบริจาคกัน แล้วก็ขนไปแจกพวกห้องแถวที่โดนกักตัวอยู่ หรือพวกโดนกักตัวในโรงงาน เขาบอกว่าตอนเขาโดนกักตัวมีคนเอาของมาช่วยตลาดกลางกุ้ง วันนี้เขาสงบเขาก็ไปช่วยคนอื่นบ้าง
ศบค. มีแผน มีคณะกรรมการควบคุมโรคระดับประเทศ ระดับจังหวัด มีของกระทรวงสาธารณสุขเองด้วย ทำไมไม่ให้มีคณะกรรมการควบคุมโรคระดับชุมชน แต่ละชุมชนมีต้นทุนเดิมอยู่ที่จะเอามารับมือได้ อย่างคลองเตยหากมีแผนพอติดเชื้อคนแรก มันจะรู้ทันทีว่าาควรเอาไปไว้ที่ไหนดี แต่เขาไม่มีแผนอะไรเลย นอกจากสเปรย์แอลกอฮอล์ในมือ เคสที่กักตัวในรถพี่ก็ไปช่วย แต่มันก็ไม่ทันแล้ว
ในเมื่อชุมชนมีความแตกต่างหลากหลาย ในความแตกต่างมันมีทุนบางอย่างซ่อนอยู่เต็มไปหมด เหมือนตลาดกลางกุ้ง มีอาสาสมัครมาตั้ง 200-300 คน มาช่วยกันแบกข้าวของแจก มันมีทุนแบบนี้ซ่อนตัวอยู่ พอเราไปคุยเราก็พบว่าหลายคนเป็นคนเลือกกุ้ง แล่ปลา ธรรมดา แล้วมีหลายเชื้อชาติมากนะ ทั้งมอญ กระเหรี่ยง พม่า ปกติเขาไม่เคยคุยกันหรอก ก็ต่างคนต่างมา แล้วก็ทำงานกัน แต่พอมีเหตุแบบนี้ทุกคนลุกมาช่วยกันปกป้องพื้นที่ของเขา ชุมชนมันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่รัฐมองไม่เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ตามชุมชน แล้วก็ช้ากว่าโรคระบาด ก้าวหนึ่งเสมอ
นักมานุษยวิทยามองวาทกรรมประเภท “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” “เชื่อหมอเพื่อชาติ” อย่างไร
คำเหล่านี้มันมีปัญหา คำว่า “ชาติ” นี้มีปัญหาทันที ถามจริงๆ มีใครทำอะไรเพื่อชาติบ้างในปัจจุบันนี้ ถ้าบอกว่าหยุดเชื้อเพื่อตัวเองเขาอาจจะหยุดอยู่บ้านมากกว่าไหม พอบอกหยุดเชื้อเพื่อชาติ เขาก็จะ ทำไมกูต้องทำอะไรเพื่อชาติวะ ชาติทำอะไรให้กูบ้างวะ คนปัจจุบันเป็นปัจเจกมากขึ้นเราไม่ได้มี collective memory เหมือนในอดีต โลกมันเปลี่ยน
คุณให้คน Baby Boom มาคิดแคมเปญสำหรับคน gen ปัจจุบัน มันฟังไม่รู้เรื่องหรอก อะไรวะ ทำไมกูต้องทำอะไรเพื่อชาติ จะคิดแคมเปญอะไรมันก็ต้องผ่านมุมมอง คน gen ปัจจุบัน โลกมันไร้พรมแดน คำว่าชาติมันแทบจะไม่มีความหมายอะไรในปัจจุบันแล้ว มันเลยไม่ประสบความสำเร็จ
เชื่อหมอนี่ยิ่งประเด็นใหญ่เลย ในวงมานุษยวิทยา มันมีหนังสือเล่มหนึ่ง เล่มเล็กแต่สำคัญมาก เป็นหนังสือฝรั่งเศส คือ หนูนิ้วโป้ง อาจารยสายพิณ ศุพุทธมงคล นักมานุษยวิทยาคนสำคัญเลยนะแปลไว้ อาจารย์อยู่ธรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้พูดถึงการที่เด็กรุ่นใหม่จะไม่เชื่อใครง่ายๆ แล้ว เพราะความรู้มันเต็มไปหมด ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครเชื่อใคร ทำไมชั้นต้องเชื่อหมอ ชั้นเองก็หาข้อมูลได้
อย่างพี่มาทำงานที่ตลาดกุ้ง สมุทรสาคร ตอนแรกที่มาก็คิดว่าแรงงานต้องไม่มีความรู้เรื่องโควิด แต่พอคุยกับเขา เขามีความรู้ดีมาก ก็ถามเขาว่าไปรู้ได้ยังไง เขาบอกเขาอ่านจากเฟซบุ๊ก ยิ่งช่วงนี้พวกเขาเล่นเฟซกันถี่มาก เพราะปัญหาความไม่สงบในพม่าตอนนี้ คนพม่าส่วนหนึ่งภาษาอังกฤษดี เขาก็แปลเรื่องราวโควิด แปลงานวิจัย เขียนให้มันง่ายขึ้น แล้วก็ปล่อยลงไปในโซเชี่ยล แรงงานที่นี่จึงเข้าถึงข้อมูลวัคซีน ข้อมูลโควิดเยอะมาก ไม่ใช่เขาไม่มีความรู้ เขาไม่ต้องเชื่อหมอหรอก เขาอ่านในนี้ งานวิจัยเวลาเขาแปลเขามีอ้างอิงกำกับด้วยนะ เพราะฉะนั้นไอ้แคมเปญแบบนี้มันใช้ไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบัน เราต้องเข้าใจความเปลี่ยนไปของโลกด้วย มนุษย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณต้องตามการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ให้ทัน จึงจะดีลกับมนุษย์ในปัจจุบันได้
อาจารย์กำลังจะบอกว่ายุทธศาสตร์ของรัฐมันหลงยุค
ก็อาจจะพูดแบบนั้นได้ระดับหนึ่ง ถ้าคุณจะใช้คนแก่มาคิดแคมเปญให้คนรุ่นปัจจุบัน หรือที่เราเห็นอาจเป็นแคมเปญที่เขาคิดขึ้นมาเพื่อผู้สูงอายุก็ได้นะ เหมือนกับที่มันมีสวัสดีวันจันทร์ แต่แคมเปญมันก็ต้องมีหลายแบบหรือปล่าว เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม นี่มันเหมือนมีแคมเปญเดียวสำหรับส่งเข้ากลุ่มสวัสดีวันจันทร์ สวัสดีวันพระ
แนวคิด “ร่างกายใต้บงการ” นี่ใช้ไม่ได้แล้ว
เขาใช้อยู่ รัฐพยายามทำให้ร่างกายมันฟังก์ชั่น เพื่อจะได้ productive แต่ร่างกายที่รัฐใช้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน แต่เป็นพื้นที่ การที่รัฐเลือกจัดสรรวัคซีนให้ภูเก็ตก่อนนี่คือรัฐกำลังมองภูเก็ตเป็น body ที่ยังสามารถสร้างผลประโยชน์ได้ รัฐจึงเทไปที่ภูเก็ตก่อนเพื่อให้เศรษฐกิจมันไปต่อได้ นี่คือการใช้ประโยชน์จากร่างกาย มันคือการพยายามกำกับให้ภูเก็ตสะอาด เป็นร่างกายใต้บงการของรัฐ เพื่อจะได้ทำหน้าที่ผลิตต่อไป
นอกจากสิ่งที่หายไปแล้ว แล้วอาจารย์มองเห็นอะไรที่เกินมาไหมในการบริหารจัดการโควิด สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมี มีแล้วไม่ช่วยอะไร แต่รัฐจัดให้มีเขามา
พี่อาจตั้งข้อสังเกตเรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉินนะ มันมี พ.ร.บ. ควบคุมโรคแล้ว จะต้องมี พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่ออะไร อำนาจมันรวมศูนย์อยู่แล้วก็ถูกรวมศูนย์ ขึ้นไปอีก มันก็เลยกระจุกแน่นอยู่ตรงนั้น รวมเยอะไปไหม แล้วมันก็ทำให้งง วันหนึ่งออกประกาศกันถี่มากเลย มันเป็นอำนาจรวมศูนย์ที่เข้ามาสร้างความงง คนอื่นงงเปล่าไม่รู้ แต่พี่งง
อาจารย์พูดในช่วงต้นว่ารัฐเดินช้ากว่าเชื้อโรคก้าวหนึ่ง ถ้ามองจากจุดนี้การจะเดินนำหน้าสถานการณ์ก้าวหนึ่งควรทำอะไร
Home isolation การกักตัวที่บ้าน สิ่งนี้ต้องเกิดแล้ว ณ นาทีนี้เพราะตอนนี้เตียงมันไม่มี แต่ home isolation ไม่ได้หมายความแค่เอาตัวคนที่ติดเชื้อไปเก็บไว้ที่บ้าน มันต้องมีระบบรองรับ ระบบดูแล ใครจะเป็นคนส่งข้าวส่งน้ำ อุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องเตรียมให้เขา ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว คู่มือ ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องรีบโทรแจ้งนะ เดี๋ยวรถเอกซเรย์จะเข้าไปหา ถ้าผลออกมาปอดแย่ลงแปลว่าเป็นสีเหลืองแล้ว จะต้องมีรถไปรับเข้าโรงพยาบาลทันที ระบบประเมินระบบติดตามต้องมี
แต่ผู้ติดเชื้ออาจไม่อยากกักตัวที่บ้าน กลัวติดคนที่บ้าน กลัวทรุดลงแล้วถึงมือหมอไม่ทัน
มันต้องมีระบบรองรับให้เขาเชื่อมั่นได้ไง พูดจริงๆ ตอนนี้อยากหรือไม่อยากมันก็เกิดขึ้นแล้ว home isolation คนไข้ที่พี่เจอที่รอที่บ้านนานสุดคือ 13 วัน อีกวันหนึ่งก็พ้นแล้ว ไม่ต้องไปโดยอัตโนมัติ มันมีโดยปริยายอยู่แล้ว เราก็ออกแบบระบบไปเลยดีไหม มันมีคนจำนวนหนึ่งที่อาการไม่หนักมาก ถ้ามีระบบรองรับเขาก็พร้อมจะอยู่บ้าน แต่มันต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเมื่อกลายเป็นสีเหลืองรถจะมาถึงหน้าบ้าน มีระบบโทรเช็ค เช้า กลางวัน เย็น ปัญหาคือระบบมันไม่เกิด มันไม่มีการ set สิ่งเหล่านี้ขึ้น แล้วระบบมันรองรับไม่ไหวแล้ว ถ้าเทียบกับการหลอกคนไข้ไปวันๆ เดี๋ยวมารับ เดี๋ยวมารับ แล้วไม่มีใครไปรับ กับการมีหมอโทรไปสอบถามอาการเลย อันไหนมันดีกว่ากัน แต่จะทำระบบนี้มันอาจจะต้องอาศัยความกล้าหาญในการยอมรับความจริงว่ารับมือไม่ไหวแล้ว การขอให้มี home isolation มันก็อาจจะเป็นการเสียหน้าประมาณหนึ่งของการบริหารจัดการเพราะมันหมายถึงการยอมรับว่าเตียงไม่พอ
ชุมชนที่ไม่มีห้องนอนแยกยังมีเยอะมาก จะทำ home isolation ได้ยังไง
ก็อย่างคลองเตยที่เขากักไม่ได้ ก็ต้องมีจุดพักคอย มี community isolation ที่ชุมชนคั่วพริก หนึ่งใน 44 ชุมชนของคลองเตย ก็เอาศาลาประชาคมมาทำเพื่อรอส่งไปโรงพยาบาล ตอนนี้มันยังไม่มีระบบอะไรที่จะรองรับได้ สถานที่ส่วนกลาง เช่น ศูนย์เด็กเล็กมันมีทุกชุมชน เพียงแต่เราจะหาไหม และรัฐจะสนับสนุนการหาสถานที่แบบนี้ไหม วัดในกรุงเทพฯ มีมากมาย แต่ว่าเรายังไม่ได้ลงแรงหาเพื่อเอามาทำหน้าที่นี้
อาจารย์มองเห็นการตีตราและการแบ่งแยก (blame and discrimination) ในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 บ้านเราอย่างไรบ้างคะ
มีเยอะมาก ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งด้วยความหวังดีแต่ประสงค์ร้าย อันดับแรกรัฐสร้างความกลัวกับโรคนี้มันก็เลยมีการตีตราไปโดยอัตโนมัติ มากไปกว่านั้นคนกลัวโควิดมันไม่ได้กลัวว่าตัวเองจะป่วย แต่กลัวตกงาน ยกตัวอย่างคลองเตยมีช่วงหนึ่งที่มีระบาดแรกๆ มีการส่งไลน์กลุ่ม ว่าอย่าไปสั่ง Grab ที่มาจากคองเตย เพราะพวกนั้นติดโควิค หรือถ้าคนที่เป็นแม่บ้านสำนักงาน แล้วบ้านอยู่ในคลองเตย ก็จะถูกทำให้มี 2 ทางเลือก หนึ่ง ย้ายออกมาอยู่ในบ้านเช่าที่องค์กรจัดให้ สองคือให้อยู่ที่บ้านจนปลอดเชื้อแล้วค่อยกลับไปใหม่ การตีตราแบบนี้มีอยู่เต็มไปหมดเลย แล้วที่มันมีการตีตราลงไปได้เยอะๆ อันหนึ่ง นี่พูดในฐานะนักมานุษยวิทยานะ เพราะคนเหล่านี้เป็นคนชายขอบอยู่แล้ว ตอนระบาดครั้งคนคลองเตยพูดถึงการระบาดครั้งแรกว่าเป็นโรคเศรษฐีเพราะมันมาจากต่างประเทศ มันติดกับคนรวย เขารู้สึกว่านั่นไม่ใช่โรคเขา พอมาระลอกสองระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่สมุทรสาคร เขายังรู้สึกว่าพวกนี้ใกล้เขามากขึ้น แต่ครั้งนี้ถ้าเราไปไล่ดู เราจะเห็นว่ามันบวกกับความยากจนชัดเจนมากขึ้น กว่าครั้งหนึ่งครั้งสอง ระบาดที่ไหน ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง ในชุมชนแออัด ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยิ่งคนชายขอบยิ่งโดนตีตราง่าย มันก็ไปกันใหญ่
อีกอันหนึ่งที่พี่โกรธมาก ดีว่าแคมเปญนี้มันหายไปแล้วคือเรื่องวัควีน มันมีการพยายามรณรงค์ให้ใครที่ฉีดวัคซีนแล้วให้ใส่ wristband ว่าฉีดวัคซีนแล้ว ให้แท๊กซี่ที่ฉีดวัคซีนแล้ว มีป้ายว่าแท๊กซี่คันนี้ฉีดวัคซีนแล้ว ใส่โปรไฟล์ในเฟซบุ๊คว่าฉีดวัคซีนแล้ว มีเสื้อยืดสกรีนว่าฉีดวัคซีนแล้วขาย อันนี้โคตรตีตราเลยนะ มันคือการแยกคนบริสุทธิ์พวก purity กับพวกที่เป็น danger คืออีพวกที่ยังไม่เข้าถึงวัคซีน อันนี้คือโคตรเลวร้ายเลย ถ้าคนทั้งประเทศเข้าถึงวัคซีนโดยไม่มีการเหลื่อมล้ำ ทุกคนสามารถเขาถึงวัคซีนโดยถือบัตรประชาชนใบเดียวเดินทางไปฉีดได้เหมือนในลาว จะไม่ว่าเลยถ้ามีแคมเปญแบบนี้ เพราะมันจะช่วยกระตุ้นคนที่ไม่กล้าฉีด หรือกลัว ซึ่งจริงๆ เขาก็มีสิทธิที่จะกลัว แต่พอมันเข้าไม่ถึง มันเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ตอนนี้ใครล่ะที่ไม่ได้ฉีด คนเร่ร่อน คนไร้บ้านได้ฉีดไหม แรงงานข้ามชาติได้ฉีดไหม แล้วจะมาแยกตีตรากันด้วยเสื้อยืด ด้วยโปรไฟล์ ด้วย wristband อะไรกันอีก โคตรจะแบ่งแยกผู้คนเลย
มองการประกาศปิดแคมป์คนงานอย่างไร
วันนี้ (27 มิ.ย.) พี่มาสมุทรสาครรถติดมาก ถนนแน่นอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน รถกระบะหลายคันหลังรถอัดแน่นไปด้วยผู้คนคน ไม่ต้องเดาก็ได้ว่าเขาไปไหนกัน แล้วเพื่อนพี่ที่อยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัดก็ส่งข่าวกันในไลน์กลุ่ม เฮ้ย มึง ไปอีกแล้วว่ะ แล้วมันก็มีคนที่ติดโควิดจาก กทม. นั่งรถไปถึงขอนแก่นแล้วนะ เพื่อจะไปขอแอดมิดที่นั่น เพราะ กทม. ไม่มีเตียง คุณจะให้เขาอยู่ได้ยังไง ให้เงินเดือนครึ่งหนึ่ง แต่เขาจ่ายค่าน้ำค่าไฟเท่าเดิมใครจะอยู่ หนีตายกลับบ้านกันหมดแหละ อีกอย่างหนึ่งในแคมป์คนงานมันไม่ได้มีแต่คนงานวัยหนุ่มสาว มันมีลูกลูกเด็กเล็กแดง เต็มแคมป์เลยนะ เขาเคยไปเหยียบแคมป์คนงานไหม เคยเห็นสภาพในนั้นไหม
แคมป์คนงานที่ต้องอยู่เฉยๆ เดือนหนึ่ง ไม่มีใครอยู่ได้นะ แม้คุณจะส่งข้าวส่งน้ำให้เขากิน มันคือสังกะสีต่อกัน กลางวันจะให้เขานอนตรงไหน ลูกเต้าเขาจะอยู่ยังไง เด็กเล็กไม่ต้องออกมาเลยใช่ไหม คือถ้าจะทำ ย้ายเขาไปอยู่ที่ไหนได้ไหม ที่มันไม่ใช่สังกะสีตรงนั้น ให้มันอยู่ได้ดีกว่า ลูกเต้าเขาได้ออกมาวิ่งเล่นบ้าง เขาก็คนนะ เขาเป็นคนเท่าเรา ปัญหาแค่เขาจนกว่าเรา และเขาไม่ได้เรียนหนังสือ เขาหาเช้ากินค่ำ ทำกับเขาเหมือนคนได้ไหม
แล้วการบริหารจัดการวัคซีนที่กำลังเกิดขึ้น
วัคซีนนี่ชัดมากเรื่องความเหลื่อมล้ำ มันเหลื่อมล้ำตั้งแต่สิทธิในการเข้าถึงวัคซีนแล้วว่าเราไม่มีสิทธิแม้แต่จะเลือกว่าจะเอาวัคซีนชนิดไหน มันเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลของวัคซีนว่าตัวไหนมันเป็นยังไง มันเชื้อเป็นนะ มันเชื้อตายนะ อย่างเรา เราเข้าไปหาอ่านได้ ตัวนี้มีงานวิจัยออกมาแบบนี้แบบนั้น แต่กับชาวบ้านที่อยู่ไกลๆ เขาจะเอาข้อมูลชุดนี้มาจากไหน แล้วก็ไปว่าเขาว่าเชื่อคนง่าย ก็มันไม่มีอะไรให้เขาอ่าน มันมีแต่ในไลน์กลุ่มที่ส่งต่อกัน แล้วก็มีป้าข้างบ้านมาตอกย้ำอีก นี่คือความเหลื่อมล้ำประการแรก คนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลชุดเดียวกันได้ อันที่สอง คือไม่สามารถเลือกได้ อันที่สาม แอพที่ใช้มันแบ่งแยกคนที่เข้าถึงชัดเจน คนเข้าถึงแอพคือคนกลุ่มหนึ่ง คนที่อยู่ที่บ้าน รอ อสม. ไปเรียกคือคนอีกกลุ่มหนึ่ง การเข้าถึงแอพมันไม่ใช่ความยุติธรรม มันจะยุติธรรมเท่าเทียมคือการถือบัตรประชานใบหนึ่งแล้วไปฉีดเลย ไม่ต้องลงแอพ แต่ตอนนี้แค่การเข้าถึงแอพ การมีมือถือ ไม่มีมือถือ การอ่านภาษาไทยออก การอ่านไม่ออก มันก็ไม่เท่ากันแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงการที่คนมีตังค์จะได้ฉีดโมเดอร์น่า คนมีองค์กรกำกับจะฉีดซิโนฟาร์ม หรือแม้การที่อาจารย์มหาวิทยาลัยได้ฉีดก่อนที่ประชาชนทั่วไปจะได้ฉีด โดยอยู่บนเหตุผลว่ามหาลัยต้องเปิดก่อน สำหรับพี่คนที่ควรต้องได้รับการฉีดคนแรก คือกลุ่มเสี่ยง คนแก่ ผู้ป่วย 7 โรค คนที่ไม่สามารถ work from home ได้ แม่ค้าขายของรถเข็น แม่ค้าขายกล้วยปิ้ง คนที่เขาต้องออกไปเผชิญโรคทุกเมื่อเชื่อวัน คนในชุมชนแออัด คนไร้บ้าน คือคนเสี่ยงที่สุด คนเหล่านี้คือคนที่ควรได้ฉีดก่อน
สุดท้ายอยากให้อาจารย์พูดถึงงานวิจัยของตัวเองที่กำลังทำอยู่
เป็นการศึกษาเพื่อหามาตรการป้องกันกลุ่มเปราะบาง ชื่อเต็มของงานคือโครงการวิจัยการศึกษามิติทางสังคมและวัฒนธรรมและการพัฒนาการป้องกันการแพร่กระบาดของโควิ ด-19 ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มเปราะบางในชุมนแออัดในพื้นที่เขตเมือง ได้งบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พี่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนจะมีการระบาดตูมตามในชุมชนแบบนี้ ยังคิดอยู่ว่าพอเราเขียนว่าจะศึกษาพื้นที่เขาเลยทำให้เขาระบาดหรือเปล่าวะ พื้นที่หลักๆ ก็มีชุมชนคลองเตย มีชุมชนแออัดในสงขลา ชุมชนแรงงานต่างด้าวที่สมุทรสาคร แล้วที่ขอนแก่นไปศึกษากับกลุ่มคนไร้บ้าน และชุมชนทางรถไฟที่กำลังถูกไล่รื้อ แล้วก็เชียงใหม่ไปศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
การศึกษาใน 5 พื้นที่ ของเราทำให้เห็นเลยว่าแค่คำว่า เปราะบาง มันก็แตกต่างหลากหลายกันแล้ว เปราะบางของคลองเตยกับเปราะบางของสมุทรสาคร ก็แตกต่างจากเปราะบางของขอนแก่น และก็แตกต่างจากเปราะบางของชุมชนมุสลิมที่สงขลา กับเปราะบางของชาติพันธุ์ที่เชียงใหม่แน่นอน แต่พอรัฐมองจะมองว่าเปราะบางเหมือนกันหมด ชุมชนแออัดเหมือนกันหมดมองไม่เห็นความซ้อนทับของมัน
ดร. บุษบงก์ วิเศษพลชัย จบปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์ มีปริญญาโทเฉพาะทางด้านพยาบาล 2 ใบ ด้านเวชปฏิบัติ และการบริหารงานสาธารณสุข ก่อนจะสำเร็จปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์