วารสารสื่อสิ่งพิมพ์
LTC การดูแลระยะยาว เพื่อภาวะพึ่งพิงอย่างมีคุณภาพในสังคมไทย
โจทย์สำคัญอย่างหนึ่งที่ท้าทายการเป็นสังคมสูงอายุคือ เราจะรับมือกับการมีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพึงเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ประชากรกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตดีที่สุด แม้ประเทศไทยจะมีกองทุนเพื่อการดูแลระยะยาว (Long-term care: LTC) แล้ว แต่ก็ยังต้องการการพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากขึ้น สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพทำการศึกษาถอดบทเรียนการบริหารจัดการการดูแลประชากรภาวะพึ่งพิงในหลายจังหวัด สังเคราะห์ กลั่นกรองบทเรียน ก่อนจะประมวลผลอีกครั้งเป็นหนังสือเล่มนี้ที่ฉายภาพจุดอ่อนจุดแข็งงาน LTC ในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาข้อมูลของต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาต่อยอดงาน LTC ให้แข็งแกร่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วิจัยและขับเคลื่อนเพื่อพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ: หกปีสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ
หนังสือที่ไม่เพียงบอกเล่าความเป็นมาและผลงานของ สวค. ในช่วง 6 ปีแรกของการก่อตั้ง (พ.ศ.2548-2555) แต่ยังเป็นประวัติศาสตร์ฉบับย่อของการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย ที่ให้ภาพรวมของการพํมนากำลังคนด้านสุขภาพตั้งแต่ยุคแห่งเอกภาพของผู้ผลิต, ยุคแห่งอิสรภาพระหว่างผู้ผลิต ผู้ใช้ และองค์กรวิชาชีพ, ยุคแห่งสัมพันธภาพระหว่างพหุภาคีกำลังคนด้านสุขภาพ, ยุคแห่งเสรีภาพและการกระจายกำลังคนที่ไม่เป็นธรรม, และยุคแห่งภราดรภาพเพื่อความเป็นธรรมด้านกำลังคน
สร้างสมดุลคนสุขภาพ บทเรียนจากอีสาน
การแก้ปัญหากำลังคนด้านสุขภาพในระดับพื้นที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ (2550-2559) เพื่อลดความไม่เป็นธรรมระหว่างจังหวัดเล็กและจังหวัดใหญ่ที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพต่างกัน รวมถึงเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังในภาพรวม ภาคอีสานภายใต้การนำของผู้ตรวจราชการ นพ.นิทัศน์ รายยวา เป็นภาคที่ได้รับการยอมรับว่ามีการบริหารจัดการระดับพื้นที่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานระดับจังหวัด อำเภอ หรือตำบล ทั้งการบริหารงานร่วมกันระหว่างสถานบริการดัวยกัน กับการร่วมมือกับองค์กรภายนอกทั้งภาคการผลิตและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนังสือเล่มนี้รวบรวมประสบการณ์การบริหารและจัดการกำลังคนระดับพื้นที่ของภาคอีสานไว้อย่างครบถ้วน แม้จะไม่ใช่บทเรียนที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นบทเรียนที่น่าจะสามารถจุดประกายในการแก้ปัญหากำลังคนให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้
ต่างๆ นาๆ ในการแก้ปัญหากำลังคนด้านสุขภาพ
การบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวใดที่จะปรับใช้กับสถานบริการทุกแห่ง เพราะแต่ละแห่งต่างมีบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกัน ประสบปัญหาต่างกัน จึงจำเป้นต้องมียุทธศาสตร์และมาตรการในการบริหารจัดการกำลังคนด้าสนสุขภาพแตกต่างกัน ปี 2554 สวค. ได้จัดเวทีเพื่อรวบรวมนวัตกรรมในการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพใน 10 จังหวัด ในทุกภูมิภาคของประเทศ จนเกิดเป็นฐานข้อมูลสรุปสภาพปัญหารในการจัดการกำลังคนและวิธีการรับมือกับการแก้ปัญหาของแต่ละจังหวัด เช่น การสร้างแรงจูงใจในการไม่เป็นข้าราชการ ด้วยการให้ค่าตอบแทนสูงกว่าข้าราชการ การลดภาระงานแพทย์ด้วยการจ้างแพทย์เกษียณอายุรการตรวจผู้ป่วยนอก ในจังหวัดกาญจนบุรี การบริหารจัดการกำลังคนเป็นภาพรวมระดับจังหวัด การแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลด้วยการใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลเป็นแหล่งทุนพยาบาลเพื่อใช้เองในหลายโรงพยาบาลของภาคกลาง การสร้างความเข้งแข้งให้กับระบบ community care ของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างบุคลากรจากชุมชนบางเบาภาระบุคลากรในวิชาชีพ การที่หน่วยบริการร่วมมือกับสถาบันการผลิตในพื้นที่เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในหลายจังหวัดในภาคอีสานเป็นต้น
กำลังคนด้านสุขภาพ ที่เป็นมา เป็นอยู่ และจะเป็นไป
รายงานสถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพที่รวบรวมตัวเลขสถิติที่เกี่ยวข้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการฯ กำลังคน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการบริหารกำลังคนฯ ของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงการรายงานผลที่เกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ทั้งผลโดยตรงต่อการแก้ปัญหากำลังคนฯ และผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับระบบบริการสุขภาพในภาพรวม
เหตุเกิดที่ขอนแก่น
ปลายปี 2552 โรงพยาบาลขอนแก่นตกเป็นเป้าสังคมเมื่อพบว่ามีผู้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกติดเชื้อจนสูญเสียการมองเห็น 11 คน จนกลายเป็นเหตุการณ์ความเสียหายที่รุนแรงที่สุดของระบบสุขภาพไทย แต่ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนโรงพยาบาลสามารถคลี่คลายปัญหาได้โดยไม่เพียงไม่มีการฟ้องร้องจากฝั่งผู้เสียหายแต่ยังได้รับการขอบคุณจากครอบครัวผู้เสียหายด้วย เทคนิคสำคัญที่โรงพยาบาลใช้คือ การเยียวยาด้วยใจ จนทำให้เกิด “ขอนแก่นโมเดล” ที่สถานบริการต่างๆ ได้รับคำแนะนำให้ศึกษาและนำไปปรับใช้ เหตุเกิดที่ขอนแก่น เป็นผลงานการถอดบทเรียนของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ ของคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นของเหตุการณ์ในวันที่ผู้ได้รับความเสียหายรายแรกเข้ารับการผ่าตัด จนถึงวันสุดท้ายที่เรื่องราวจบลงด้วยดี ฉายให้เห็นภาพกระบวนการเยีวยาด้วยใจและการให้ความคุ้มครองกำลังคนด้านสุขภาพของโรงพยาบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการรับมือกับสื่อมวลชนของโรงพยาบาล ที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน