เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแพทย์แห่งโตเกียว (Tokyo Medical University – TMU) เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อผู้บริหารออกมายอมรับว่ามีการแก้ไขผลคะแนนสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ของตนเองเพื่อให้ได้นักศึกษาแพทย์เพศชายมากกว่าเพศหญิง และไม่ได้กระทำเช่นนี้เป็นครั้งแรก หากทำต่อเนื่องมาเกือบสิบปี ตั้งแต่ปี 2553 และตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมาไม่มีปีใดเลยที่ผู้สอบผ่านเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์แห่งนี้จะเป็นหญิงมากกว่าชาย และสัดส่วนการสอบผ่านของผู้หญิงค่อยๆ ลดลง ในปี 2553 มีผู้หญิงสอบเข้าโรงเรียนแพทย์แห่งนี้ได้ร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับผู้สอบผ่านทั้งหมด ปี 2561มีนักศึกษาแพทย์ใหม่เป็นผู้หญิงเพียงร้อยละ 17.5 ซึ่งสัดส่วนระหว่างนักศึกษาแพทย์ชายและหญิงของโรงเรียนแพทย์อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นแห่งนี้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเดินสวนทางกับตัวเลขในทศวรรษก่อนหน้านี้ สถิติจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1980s จำนวนนักเรียนหญิงสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศญี่ปุ่นได้มีสัดส่วนที่มากขึ้น ตั้งแต่ร้อยละ 18 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2540 และร้อยละ 32 ในปี 2550 และขึ้นมาถึงร้อยละ 33 ในปี 2561
ผู้บริหาร TMU ให้เหตุผลของการที่ต้องเลือกปฏิบัติทางเพศเช่นนี้ว่าเพื่อลดสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์เนื่องจากเพศหญิงมีแนวโน้มเลิกทำอาชีพแพทย์สูงกว่าเพศชาย โดยเฉพาะเมื่อแต่งงานสร้างครอบครัว ความตั้งใจของโรงเรียนแพทย์แห่งนี้คือให้มีนักศึกษาแพทย์ผู้หญิงในแต่ละปีเพียงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับนักศึกษาแพทย์ทั้งหมดในแต่ละปีการศึกษา
ผู้บริหาร Tokyo Medical University แถลงข่าวขอโทษประชาชนที่ยอมให้มีการแก้ไขคะแนนสอบ
เครดิตภาพ http://mediabites.com.pk
กรณีของ TMU สร้างความสะเทือนไปทั้งสังคมญี่ปุ่นซึ่งไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องรีบตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนโรงเรียนแพทย์ทั้ง 81 แห่งทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบว่านอกจาก TMU แล้วมีโรงเรียนแพทย์แห่งใดบิดเบือนคะแนนสอบเข้าของนักศึกษาโดยใช้เพศเป็นเกณฑ์อีกหรือไม่ และต้นเดือนมกราคมนี้เองผลการสืบสวนก็ปรากฏออกมาว่ามีโรงเรียนแพทย์อีก 9 แห่งบิดเบือนผลคะแนนสอบในลักษณะเดียวกันคือลดคะแนนผู้สอบเข้าที่เป็นหญิงลงและเพิ่มคะแนนให้ผู้สอบเข้าที่เป็นชาย เพื่อให้ได้นักศึกษาแพทย์เพศชายมากกว่าเพศหญิง ในจำนวนโรงเรียนแพทย์อีก 9 แห่ง ที่ทำผิดลักษณะเดียวกัน มีแหล่งผลิตแพทย์ที่สำคัญของประเทศคือ โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยคิตาซาโต้ (Kitasato University) และมหาวิทยาลัยจุนเทนโด้ (Juntendo University) รวมอยู่ด้วย
เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างต่อเนื่อง และสาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการที่หมอผู้หญิงลาออกจากวิชาชีพแพทย์ในอัตราสูงจริงเหมือนที่ผู้บริหาร TMU กล่าวอ้าง ทั้งนี้ตัวเลขจากกระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการสังคมของรัฐบาลญี่ปุ่น (Health, Labor and Welfare Ministry ) แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 89 ของหมอผู้ชายยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่เมื่อทำงานแล้ว 12 ปี ขณะที่อัตราการคงอยู่ของหมอผู้หญิงเมื่อเวลาผ่านไป 12 ปี มีเพียงร้อยละ 73 โรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งจะมีโรงพยาบาลในเครือข่ายและมีหน้าที่ต้องผลิตแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาลของตนเอง แต่ในขณะที่โรงเรียนแพทย์มุ่งแก้ปัญหาด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม (ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม) คือเปิดโอกาสให้เพศชายได้เข้าสู่วิชาชีพแพทย์ได้มากกว่าเพศหญิง โรงพยาบาลหลายแห่งตั้งคำถามต่อตนเองถึงมาตรการธำรงแพทย์ผู้หญิงไว้ในระบบ คำถามหนึ่งที่สำคัญคือบริบทของการทำงานในโรงพยาบาลเอื้อกับการทำงานของแพทย์ผู้หญิงแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะแพทย์หญิงที่แต่งงานและมีบุตรแล้ว
ปี 2556 โรงพยาบาลฟูจิตะ โรงพยาบาลเอกชนของมหาวิทยาลัย Fujita Health University ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์เอกชน และประสบกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์เนื่องจากการลาออกของแพทย์ผู้หญิงเป็นจำนวนมากจนกระทบกระเทือนระบบบริการสุขภาพของตนเอง ออกนโยบายเสนอทางเลือกในการทำงานให้กับแพทย์ผู้หญิง โดยลดเวลาการทำงานจากสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 20-30 ชั่วโมง โดยได้ค่าตอบแทนลดลงตามส่วน เพื่อธำรงแพทย์ผู้หญิงโดยเฉพาะที่อายุเกิน 30 ปีไว้ระบบบริการ ข้อเสนอนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าแพทย์ผู้หญิงรักอาชีพแพทย์และไม่ได้อยากลาออกจากวิชาชีพภายหลังการแต่งงานมีครอบครัว หากแต่บริบทการทำงานต่างหากที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงที่มีสามีและลูกสามารถธำรงอาชีพแพทย์ได้ ไม่เพียงข้อเสนอลดชั่วโมงการทำงาน โรงพยาบาลฟูจิตะยังเปิดโอกาสให้แพทย์ผู้หญิงสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะเข้างานวันใด เวลาใด แต่ในหนึ่งสัปดาห์ต้องมีชั่วโมงการทำงานครบตามที่ทำความตกลงกับโรงพยาบาลไว้ เพื่อให้สามารถบริหารเวลาได้ลงตัวทั้งชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน ทำให้มีแพทย์หญิงจำนวนหนึ่งใช้เวลากลางคืนหลังจากลูกๆ เข้านอนมาทำหน้าที่ “แพทย์” เวรดึกที่โรงพยาบาลแทนการทำงานในเวลากลางวันที่พวกเธออยากทำหน้าที่ “แม่” อยู่ที่บ้านมากกว่า ข้อเสนอนี้ไม่เพียงทำให้โรงพยาบาลฟูจิตะสามารถธำรงแพทย์หญิงไว้ในระบบ หากสามารถดึงดูดให้แพทย์หญิงที่ลาออกไปแล้วกลับเข้ามาทำงานใหม่ด้วย โดยโรงพยาบาลต้องจัดให้มีการเทรนนิ่งให้แพทย์กลุ่มนี้ใหม่ เนื่องจากทักษะในการตรวจคนไข้ของพวกเธอลดลงจากการวางมือจากอาชีพแพทย์นาน โรงพยาบาลหลายแห่งได้ยื่นข้อเสนอในลักษณะใกล้เคียงกันให้กับแพทย์หญิงของตนเองที่มีแนวโน้มจะลาออกจากระบบ บางแห่งเปิดร้านทำผมให้เป็นการเฉพาะเพื่อให้พวกเธอได้ใช้เป็นสถานที่พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ระหว่างกัน ในช่วงพักจากการทำงาน
ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ของญี่ปุ่น ไม่ได้เกิดจากการผลิตที่ไม่เพียงพอ หากเป็นเรื่องของการไม่สามารถรักษาแพทย์ไว้ในระบบได้ การธำรงรักษาบุคลากรทางแพทย์ไว้ในระบบเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมากมาย และเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการในการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้บุคลากรสามารถอยู่ในระบบได้อย่างมีความสุขและมั่นคง เมื่อภาคการผลิตเข้ามาแก้ปัญหาให้หน่วยบริการอย่างเช่นที่ TMU ทำก็กลายเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา (TMU อาจต้องเผชิญกับคดีความที่มีมูลค่าความเสียหายหายสูงสุดในระบบการศึกษาของญี่ปุ่นเมื่อผู้สมัครสอบหญิง 24 คน ที่ควรจะได้เข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ตามผลคะแนนสอบที่เป็นจริง ได้เรียกร้องให้มีการชดเชยความเสียหายเป็นเงินรวม 67,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง TMU พยายามหาทางไกล่เกลี่ยด้วยการยอมรับพวกเธอให้เป็นนักศึกษาแพทย์) เหตุการณ์นี้ไม่เพียงเป็นบทเรียนสำคัญของระบบบริการสุขภาพของญี่ปุ่น หากเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ของทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ที่ภาคการผลิตและการให้บริการยังไม่สามารถเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันได้
แม่พลอย
ที่มาภาพ : www.newsone.tv
แหล่งข้อมูล
https://www.bbc.com/news/world-asia-46568975
http://time.com/5448671/japan-medical-school-enroll-women-discrimination/