โควิด – 19 กับระบบ LTC ในเขตเมือง

Home / E-MAGAZINE / โควิด – 19 กับระบบ LTC ในเขตเมือง
โควิด – 19 กับระบบ LTC ในเขตเมือง

ลำพังปัญหาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงในเขตเมืองเพียงอย่างเดียวก็ถือเป็นปัญหาที่ท้าทายระบบสุขภาพมากแล้ว  เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ความท้าทายนี้ยิ่งเข้มข้น กลายเป็นปัญหาใหญ่ซ้อนทับลงมาบนความอ่อนแอของการดูและระยะยาว  งานเขียนชิ้นนี้พาทุกคนสัมผัสปัญหาที่แท้จริงของโควิด – 19 กับระบบ LTC ในเขตเมือง 

สถานการณ์ปัญหา

          การแพร่ระบาดของโควิด -19 ก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบ LTC ในพื้นที่เมืองมากเพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงมักพักอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว อยู่ตามลำพังกับคู่สมรสที่เป็นผู้สูงอายุเหมือนกัน  และการพักในสถานบริบาลและข้อมูลจากการรายงานของสื่อมวลชนรวมทั้ง Social media หรือสถานสงเคราะห์ ข้อมูลจากกลุ่มอาสาเส้นด้ายซึ่งทำงานอาสาสมัครรับส่งผู้ป่วยจากบ้านพักสู่สถานบริการ รวมทั้งการรับส่งยา อาหาร หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานบริการ ได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้สูงอายุทั่วไปได้รับผลกระทบในหลากหลายรูปแบบ สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ผู้ที่พักอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวหรือตามลำพังกับคู่สมรส พบว่าหากได้รับการติดเชื้อจะมีแนวโน้มของการไม่ได้รับการดูแล หรือการเข้าถึงระบบบริการต่ำ เนื่องจากไม่มีคนรู้เห็น ส่วนใหญ่คนที่แจ้งข่าวการติดเชื้อของคนกลุ่มนี้จะเป็นเพื่อนบ้านข้างเคียงที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงและแวะไปถามไถ่ หรืออาจเป็นกรณีที่ผู้สูงอายุออกไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน มีหลายกรณีที่กว่าเพื่อนบ้านหรือสังคมภายนอกจะรับรู้ถึงการติดเชื้อของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็เข้าสู่ภาวะรุนแรง บางกรณีพบว่าเสียชีวิตอยู่ในบ้านเป็นเวลาหลายวันแล้ว
  2. กรณีพักอาศัยกับครอบครัว ปัญหาที่พบคือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นคนดูแลได้รับเชื้อ และต้องเข้าสู่ระบบการรักษาหรือการกักตัว 14 วัน ทำให้ไม่มีคนดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่บ้าน และปัญหาจะรุนแรงขึ้นเมื่อพบว่าผู้สูงอายุก็ติดเชื้อด้วยแต่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาหรือการกักตัวในระบบได้ ก็ต้องนอนติดเชื้ออย่างเดียวดายในบ้านพัก
  3. กรณีที่พักอาศัยในสถานบริบาลหรือสถานสงเคราะห์ พบว่ายังคงมีความเสี่ยง เนื่องจากผู้สูงอายุยังคงต้องเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขและการแพทย์จากระบบตามปกติ หลายกรณีพบว่าผู้สูงอายุได้รับเชื้อจากการเข้ารับบริการทางสาธารณสุขจากสถานบริการภายนอก บางกรณีได้รับเชื้อจากญาติที่เข้ามาเยี่ยม แม้สถานสงเคราะห์หรือสถานบริบาลต่างๆ จะจัดระบบการเยี่ยมที่ป้องกันการติดเชื้อแล้วแต่ก็ยังพบการติดเชื้อ มีสถานสงเคราะห์บางแห่งพบการติดเชื้อในผู้สูงอายุที่พำนักอยู่และในผู้ดูแลที่ให้บริการทุกคน
  4. สถานบริการหลายแห่งปฏิเสธการรับผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไว้ในสถานบริการ โดยเฉพาะระบบการกักตัวเพื่อดูอาการที่ส่วนใหญ่จะให้การรองรับผู้ที่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงจำนวนมากต้องพักดูอาการที่บ้าน จะเข้าสู่ระบบบริการได้ต่อเมื่อมีอาการทรุดหนักต้องการการบริการทางการแพทย์ ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนต้องเสียชีวิตลง ข้อมูลจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครพบว่าระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2564 – 16 กรกฎาคม 2564 ในช่วงของการระบาดระลอก 3 ที่มีคลัสเตอร์จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ มีผู้เสียชีวิตด้วยโควิด -19 ในกรุงเทพฯ 1,422 ราย เป็นผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีถึง 948 ราย ในขณะที่ภาพรวมการติดเชื้อของกลุ่มผู้สูงอายุพบว่าระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 3 กันยายน 2564 มีผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด – 19 ทั้งประเทศจำนวน 105,113 คน คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของประชากรสูงอายุทั้งหมดของประเทศ เฉพาะกรุงเทพมหานครในช่วงเวลานั้นมีผู้สูงอายุติดเชื้อ 35,017 คน (ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ)
  5. บางกรณีพบว่าผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นฝ่ายปฏิเสธการเข้ารับบริการในสถานบริการ เพราะจะต้องห่างไกลคนในครอบครัว เมื่อเข้าสู่ระบบจะไม่มีใครสามารถไปเยี่ยมได้ หรือบางคนรู้ตัวว่าจะเสียชีวิตแน่นอนก็ขอเลือกอยู่บ้านกับครอบครัวและเสียชีวิตที่บ้านแทน
  6. แม้พื้นที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จะมีการดำเนินงานกองทุน LTC และมี CG ในระบบแล้ว แต่พบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 CG ของกองทุน LTC ไม่สามารถลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากครอบครัวผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงไม่ประสงค์ให้เยี่ยมเพราะกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อ
  7. มีปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงวัคซีนของประชากรกลุ่มนี้ในช่วงต้นๆ ของการระบาดมีอยู่มาก เนื่องจากหลายเหตุผล เช่น เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ไม่มีลูกหลานลงทะเบียนให้ ไม่มีคนพาไปรับการฉีด ในช่วงหลังของการระบาดสำนักอนามัยกรุงเทพฯ แก้ปัญหาด้วยการจัดรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ให้บริการในชุมชน
  8. โควิด- 19 ทำให้ประชากรกลุ่มนี้ที่ไม่ได้ติดโควิด – 19 ต้องได้รับผลกระทบในด้านอื่นโดยเฉพาะการไม่สามารถรับบริการทางสุขภาพทั่วไปที่เคยได้รับ เนื่องจากสถานบริการไม่สามารถเปิดให้บริการโรคทั่วไปได้ตามปกติ ทำให้หลายคนที่มีโรคประจำตัวต้องขาดยา หรือห่างไกลการปรึกษากับบุคลากรในระบบสาธารณสุข นอกจากนกี้พบกว่าจำนวนหนึ่งต้องมีคุณภาพชีวิตต่ำลง เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวต้องตกงานหรือขาดรายได้ ทำให้ไม่มีเงินดูแลหรือจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรืออาหารปั่น
  9. ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงหลายราย แม้จะไม่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากโควิด-19 ทางตรงแต่ได้รับทางอ้อม โดยเฉพาะการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต หลายคนเกิดอาการ depress หรือเป็นโรคซึมเศร้า

2. มาตรการแก้ไขที่เกิดขึ้น

จากสภาพปัญหาข้างต้นพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะกรมกิจการผู้สูงอายุ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในลักษณะของการเรียนรู้จากการทำงาน (learning by doing) เพราะการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เป็นสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งตัวเชื้อโรคที่ใหม่ และมีความรุนแรง ทำให้การรับมือทั้งด้านสาธารณสุขและการแพทย์เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ไปในขณะที่รับมือกับโรคและการแพร่ระบาดของโรคไปด้วย ในส่วนของการดูแลระยะยาวก็ได้รับผลกระทบเพราะไม่เคยมีภัยฉุกเฉินทางสุขภาพใดที่รุนแรงเท่านี้มาก่อน การเตรียมการรับมือจึงไม่เคยมีการวางแผนมาก่อน ต้องเรียนรู้และปรับตัวตามสถานการณ์

  1. ในช่วงแรกของการระบาดมาตรการแก้ไขหรือการช่วยเยียวยาสถานการณ์เกิดขึ้นจากฝั่งของประชาชนเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครทั้งมูลนิธิต่างๆ และกลุ่มอาสาเส้นด้ายที่เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์โควิด – 19 หน่วยงานหลักทั้งกรมกิจการผู้สูงอายุและสำนักอนามัยต่างยอมรับว่ากลุ่มอาสาสมัครช่วยเข้ามาปิดจุดอ่อนของระบบ LTC ได้เป็นอย่างดี สามารถเติมเต็มการทำงานของ CG ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และการจัดส่งอาหาร และของใช้ที่จำเป็นให้กับผู้สูงอายุที่ไม่มีสมาชิกในครอบครัวดูแล หรือผู้สูงอายุที่ติดเชื้อและอยู่กันตามลำพัง
  2. มีระบบสร้างความเข็มแข็งด้านความรู้และทักษะการแพทย์เบื้องต้นให้กับทีมอาสาเส้นด้าย ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่เข้าถึงผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงในระดับรายบุคคลได้ดีที่สุดในช่วงการระบาด เพราะมีครบทั้งคน เงิน และอุปกรณ์ทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อโดยได้รับจากการบริจาคของประชาชนทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคล่องตัวกว่าหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่กลุ่มอาสาเส้นด้ายขาดคือความรู้และทักษะทางการแพทย์ ซึ่งคณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี ได้เข้ามาเสริมจุดอ่อนตรงนี้ด้วยการจัดอบรมความรู้และทักษะให้กลุ่มอาสาเส้นด้าย เพื่อให้สามารถให้บริการการดูแลประชาชนได้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น
  3. กรมส่งเสริมกิจการผู้สูงอายุจัดทำคู่มือการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและการดูแลผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์แจกให้แก่ผู้สนใจ เพื่อกระจายองค์ความรู้ และเพื่อสร้างให้สมาชิกในครอบครัวและสาธารณะสามารถเป็นผู้ให้การดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงได้ ทดแทนข้อจำกัดของกำลังคนภาครัฐ เน้นการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องการป้องกันไม่ให้ประชากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงหรือติดเชื้อ
  4. กรุงเทพมหานครจัดระบบฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ให้ประชากรสูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและการไม่สะดวกเดินทางไปรับวัคซีนของประชากรกลุ่มนี้
  5. กรุงเทพมหานครร่วมมือกับภาคประชาชนจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงเตียง และการไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการแพร่กระจายของเชื้อในบ้าน และทำให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการได้อยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากร โดยไม่ต้องใช้พื้นที่ของสถานบริการซึ่งควรต้องเก็บทรัพยากรไว้สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง
  6. กระทรวง พม. อบรมความรู้เพิ่มด้านการดูแลผู้สูงอายุให้กับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุเทียบเท่า CG โดยนำหลักสูตรอบรม CG 70 ชม. ของกรมอนามัยมาอบรมให้
  7. มีการตั้ง war room เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่ง war room นี้รวมกลุ่มอาสาเส้นด้ายเข้ามาด้วย ทำให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างเป็นระบบในช่วงหลัง จนนำสู่การจัดการศูนย์พักคอยในชุมชนโดยได้รับงบประมาณจาก สปสช.หัวละ 1,000 บาท สามารถมียา อาหารและนำ ส่งให้กับผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อผู้ติดเชื้อโดยตรง ยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในการต้องรับเชื้อจากสมาชิกในครอบครัว เพราะสามารถแยกผู้ติดเชื้อไม่มีอาการไปพักคอยที่อื่นนอกบ้านพักได้
  8. จัดส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปให้บริการตรวจสุขภาพและจัดยาให้ผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ เพื่อลดความเสี่ยงในการต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงหรือติดบ้าน ปรับระบบให้มีการปรึกษาทางไกล และมีการจัดส่งยาให้ถึงบ้าน

3. ข้อเสนอแนะ

  1. ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลผู้มีภาวะติดบ้านติดเตียง เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้หากเกิดภัยฉุกเฉินทางสุขภาพอื่นในอนาคต เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดระบบการดูแลให้ทันกับสถานการณ์ และสามารถเห็นภาพรวมของผลกระทบของภัยฉุกเฉินต่างๆ ต่อประชากรกลุ่มนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นำสู่การวางแผนกำหนดนโยบายในอนาคต ทั้งนี้ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดสามารถให้ข้อมูลได้ว่ามีผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงจำนวนเท่าไรที่ติดเชื้อโควิด-19
  2. ควรมีการถอดบทเรียนผลกระทบและมาตรการรับมือในกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ในระยะยาวต่อไป
  3. จำเป็นต้องมีบูรณาการระยะยาวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ชุมชน กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ในการจัดระบบการดูแลระยะยาวในเขตเมือง ซึ่งมีโครงสร้างสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจต่างจากชนบท

หมายเหตุ เพ็ญนภา หงษ์ทอง เก็บความจาก การเสวนาออนไลน์ “โควิด -19 กับระบบ LTC เขตเมือง” สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ จัดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565  ผู้ร่วมเวทีประกอบด้วย 

  1. คริส โปตระนันท์ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากลุ่มอาสาเส้นด้าย
  2. อาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  3. วรรณา งามประเสริฐ จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

ดำเนินรายการโดย เพ็ญนภา หงษ์ทอง