โควิด–19 – ผู้ป่วยมะเร็ง – ห้อง ICU

Home / E-MAGAZINE / โควิด–19 – ผู้ป่วยมะเร็ง – ห้อง ICU
โควิด–19 – ผู้ป่วยมะเร็ง – ห้อง ICU

เรื่องราวเกี่ยวกับความเห็นและความรู้สึกของแพทย์รักษาผู้ป่วยมะเร็งในประเทศออสเตรเลียท่านหนึ่ง ที่ถูกแพทย์อื่นขอให้ย้ายคนไข้ของเธอซึ่งเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและโอกาสรอดแทบไม่มีออกจากห้อง ICU เพื่อส่งเตียงต่อให้ผู้ป่วยโควิด -19

Ranjana Srivastava เขียนเรื่องราวที่ประสบลงในหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษเมื่อวันที่ 12 มกราคม นี้เอง เธอบอกว่าผู้ป่วยมะเร็งหญิงที่เธอดูแลมานาน มีอาการทรุดลงและถูกส่งตัวเข้า ICU ด้วยภาวะที่อวัยวะหลายส่วนล้มเหลวและต้องใช้เครื่องมือช่วยชีวิตเต็มที่ที่สุด คุณหมอบอกกับครอบครัวของคนไข้ว่า 24 ชั่วโมงจากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด และแม้คนไข้ของเธอจะผ่าน 24 ชั่วโมงนี้ไปได้ แต่สิ่งที่โหดร้ายก็ยังรออยู่

เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่คนไข้ของเธอเข้า ICU เธอได้รับโทรศัพท์จากหมอประจำห้อง ICU

“อาการของคนไข้คุณหมอไม่ค่อยดี ผมอยากจะขอให้คุณหมอติดต่อแผนกระยะสุดท้าย (palliate) และย้ายเธออกจาก ICU ก่อนเวลาครับ”

“เมื่อไรคะ”

“ตอนนี้”

เหตุผลสำคัญที่หมอ ICU เลือกให้คนไข้ของเธอเป็นผู้เสียสละเตียงให้คนไข้โควิด -19 เพราะ “คนไข้ของคุณหมอเป็นมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาได้”

เธอถามหมอ ICU กลับไปว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการเตียง ICU นั้นฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง คำตอบที่เธอได้รับคือ “ไม่ได้ฉีด ทำให้เขาอาการหนัก”

คุณหมอ Srivastava ยอมรับว่าเธอตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเธอก็รู้ว่าเพื่อนหมอ ICU คนนั้นก็เช่นกัน ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญมากในการทำในสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมทางการแพทย์ และนั่นทำให้เธอต้องเลือกระหว่างเคารพในความพยายามของเพื่อนหมอที่ต้องรักษาระบบสุขภาพไม่ให้ล่มสลาย กับการให้เกียรติคนไข้ของเธอเอง เธอรู้ว่าหากเป็นเวลาปกติไม่ได้มีภาวะโรคระบาดแพทย์ ICU ท่านนั้นจะไม่ร้องขอเธอเช่นนี้ ที่สำคัญตัวเธอเองก็เข้าใจถึงหลักการของการตัดสินใจในภาวะที่ทรัพยากรสุขภาพมีความจำกัด โอกาสในการรอดชีวิตของคนไข้ของเธอเทียบไม่ได้กับโอกาสของคนไข้โควิด -19 คนนั้น

แต่สุดท้ายคำตอบที่เธอมีให้กับเพื่อนหมอ ICU ท่านนั้นคือ

“หากคุณหมอขอให้ฉันหยุดการให้การรักษาคนไข้ของฉันในคืนนี้ ฉันทำไม่ได้ คนไข้ของฉันอาจเป็นมะเร็ง แต่เธอควรได้รับโอกาส”

เหตุการณ์ที่คุณหมอ Srivastava ถ่ายทอดผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ออกสู่โลกนอกสังคมแพทย์ จริงๆ เป็นสถานการณ์ที่ระบบสุขภาพในตะวันตกหลายประเทศเคยพยายามถกเถียงกันเพื่อหาคำตอบ เมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลสิทธิส่วนบุคคล คนกลุ่มนั้นควรต้องรับผิดชอบอะไรบ้างไหม เช่นจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้น เมื่อต้องเจ็บป่วยและต้องการทรัพยากรทางการแพทย์จำนวนมาก ควรต้องมีข้อกำหนดไหมเมื่อสิทธิส่วนบุคคลกระทบกับความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเช่นนี้ เช่น จ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือเมื่อเกิดภาวะต้องแย่งชิงทรัพยกรเช่นนี้ คนกลุ่มนี้ควรได้รับโอกาสเป็นลำดับสุดท้ายหรือไม่

การตัดสินใจของคุณหมอ Srivastava ในการให้การรักษาคนไข้มะเร็งของตัวเองต่อไป ไม่ได้อยู่บนหลักคิดทางสังคมว่าในเมื่อไม่ฉีดวัคซีนควรต้องรับผิดชอบแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการไม่เบียดบังทรัพยากรจากผู้อื่น หากอยู่บนหลักคิดของคนเป็นหมอที่ต้องดูแลคนไข้ตรงหน้า และไม่ปล่อยให้คนไข้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร

คนไข้มะเร็งของคุณหมอเสียชีวิตลงในเวลาไม่นานในห้อง ICU

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย โชคดีที่เรายังเดินทางมาไม่ถึงจุดที่ต้องถกเถียงกันในประเด็นนี้ เพราะกระแสต้านการฉีดวัคซีนในบ้านเราไม่รุนแรง แต่พฤติกรรมคนที่ยังชอบปาร์ตี้ หากติดโควิด-19 มา เราควรมีข้อกำหนดบางอย่างที่จะทำให้แพทย์ไม่ต้องลำบากใจ และผู้ป่วยคนอื่นไม่ต้องได้รับผลกระทบหรือไม่

 

เรื่อง: เพ็ญนภา หงษ์ทอง

ภาพ: https://www.bristol.ac.uk/

แหล่งข้อมูล

https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/jan/13/my-bile-rises-as-im-asked-to-move-my-dying-cancer-patient-out-of-icu-to-make-room-for-an-unvaccinated-man-with-covid?CMP=fb_gu&utm_medium=Social&utm_source=Facebook&fbclid=IwAR2_aTOeDCLRELTgovYq3GT3U_PDY4xJX6JBgMffLy9T2iD3avRysHNOH4U#Echobox=1642032503