การห้าวหาญขนาดประกาศจะเปิดประเทศให้ได้ใน 120 วัน ท่ามกลางการระบาดของโรค แปลว่าต้องมีความมั่นใจสูงมาก นายกฯ บอกว่ามีการทำสัญญาจองวัคซีนไปแล้วกว่า 105.5 ล้านโดส มั่นใจว่าจะสามารถฉีดให้ประชาชนไทย 50 ล้านคน ก่อนถึงกำหนดวันเปิดประเทศ (14 ตุลาคม 2564) โดยไม่มีการบอกว่า 105 ล้านโดสนั่นจองกับใคร และมีกำหนดมาถึงเมืองไทยเมื่อไร และที่สำคัญมีหลักประกันอะไรยืนยันว่าเราจะได้รับวัคซีนที่จองครบตามจำนวน ทันเวลาที่กำหนด
วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีผู้ผลิตจำนวนจำกัด และผู้ผลิตแต่ละรายมีศักยภาพในการผลิตจำกัด ขณะที่ประเทศต่างๆ แย่งกันจองซื้อ อีกทั้งบริษัทต่างๆ ยังมีภาระหน้าที่ต้องส่งวัคซีนให้โครงการ COVAX ที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมก่อนอีก หลายประเทศจองวัคซีนก่อนหน้าเรายังไม่ได้รับการจัดสรรจากบริษัท แล้วไทยเพิ่งขยับตัวจองช้ากว่าเขาทำไมถึงมั่นใจว่าเราจะได้รับการจัดสรรทันเวลา
มาเริ่มต้นที่สถานการณ์ของแอสตร้าเซนเนก้า ต้นเดือนพฤษภาคม EU เพิ่งยื่นฟ้องบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพราะไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ตามข้อตกลงในสัญญาการจองซื้อ หลายประเทศใน EU ต้องเร่งทำสัญญาซื้อวัคซีนของไฟเซอร์แทน ขณะเดียวกันยอดการผลิตและการส่งวัคซีนของ AZ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ วันที่ 9 มิถุนายนรัฐบาลมาเลเซียและไต้หวันออกมาระบุว่าได้รับวัคซีนจากโรงงานผลิตในไทยล่าช้าไปจากที่กำหนดถึง 3 สัปดาห์ และได้รับในปริมาณที่น้อยกว่าที่ทำความตกลงกับบริษัท AZ ไว้ นอกจากความล่าช้าของตัวแทนผลิตในประเทศไทยแล้ว AZ ยังต้องเจอวิกฤติการผลิตมากขึ้นเมื่อรัฐบาลไต้หวันยกเลิกการเจรจากับบริษัทเพื่อผลิตวัคซีนให้บริษัท 100 ล้านโดส เพราะบริษัทต้องการให้ไต้หวันผลิตให้ได้อย่างน้อย 300 ล้านโดส ซึ่งเกือบจะเกินศักยภาพการผลิตวัคซีนของไต้หวันทั้งหมด

หันมามองที่ไฟเซอร์ วัคซีนหลักของหลายประเทศที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม เรียกว่าmRNA ที่ยังไม่เคยมีวัคซีนตัวใดผลิตโดยใช้เทคโนโลยีนี้มาก่อน ไฟเซอร์ตั้งเป้าผลิตในปีนี้ที่ 2,500 ล้านโดส ปัจจุบันมียอดจองไฟเซอร์จากทั่วโลกแล้วกว่า 1,400 ล้านโดส เป็นยอดจองของอเมริกา 300 ล้านโดส EU 500 ล้านโดส โดยมีเงื่อนไขสามารถเพิ่มยอดจองได้อีก 100 ล้านโดย ญี่ปุ่น 144 ล้านโดส สหราชอาณาจักร 30 ล้านโดส และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมกันอีก 450 ล้านโดส ตัวเลขนี้เผยแพร่วันที่ 31 พฤษภาคม ก่อนที่รัฐบาลไทยจะทำสัญญาจองวัคซีนกับไฟเซอร์ 20 ล้านโดสในวันที่ 10 มิถุนายน คำถามคือเมื่อไรจะถึงคิวเรา แล้วตอนนี้กำลังการผลิตของไฟเซอร์เท่าไร นั่งหาตัวเลขนานสองนานหาไม่ได้ รู้แน่ๆ คือ ต้นเดือนที่ผ่านมา European Medicines Agency – EMA เพิ่งอนุมัติให้โรงงานผลิตวัคซีนในกรุง Puurs ประเทศเบลเยี่ยม เข้าร่วมเป็นสายการผลิควัคซีนให้กับไฟเซอร์เพื่อเพิ่ม supply วัคซีนให้กับ EU ข่าวไม่ได้ระบุว่าการเข้ารวมในสายการผลิตนี้คือการทำหน้าที่อะไร อย่างที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเทคนิค mRNA เป็นเทคนิดการผลิตวัคซีนเทคนิคใหม่เอี่ยมของโลก การหาโรงงานผลิตทั้งกระบวนการ รวมถึงการหาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถในการผลิตจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
คอขวดที่สำคัญในการผลิตวัคซีน mRNA นอกจากการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลแล้วยังมีเรื่องของการขาดแคลนส่วนประกอบสำคัญที่ต้องใช้ในการผลิต ทั้งนิวคลีโอไทดส์, เอนไซม์ และสารประกอบอินทรีย์ที่เรียกว่า lipids เพราะมีไม่กี่บริษัทที่ผลิตสารเหล่านี้ได้ ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลและวัตถุดิบสำหรับผลิตวัคซีนนี้เกิดขึ้นกับโมเดอร์น่าด้วยเช่นกันเพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการผลิต วันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา EMA ก็เพิ่งอนุมัติให้ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำเร็จรูป (finished product) ในเมือง Monts ฝรั่งเศส และยังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานอีก 2-3 แห่งเพื่อทดสอบและควบคุมคุณภาพวัคซีน โดยก่อนหน้านี้ EMA เพิ่งอนุมัติให้ตั้งโรงงาน 2 แห่งเพื่อผลิตสารออกฤทธิ์ (active substance) และผลิตภัณฑ์กลางน้ำ (finished product intermediates) ในสหรัฐอเมริกา โดย EMA มีความคาดหวังว่าจะทำให้มีผลผลิตวัคซีนโมเดอร์น่าที่บรรจุในขวดเล็กพร้อมใช้เพิ่มสัก 2 ล้านขวด ทั้งนี้เพื่อป้อนให้กลุ่มประเทศ EU เท่านั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทยอย่าได้หวัง
ทีนี้มาดูซิโนแวควัคซีนตัวหลักของประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตในจีนตั้งเป้าผลิตให้ได้ 2 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ เป้าหมายหลักเพื่อประชากรตัวเองที่มีจำนวนมหาศาล โดยภายในสิ้นเดือนมิถุนายน รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากถึง 560 ล้านคน และอีก 330 ล้านคนภายในสิ้นปี นอกจากนี้ยังมีอีก 17 ประเทศที่ใช้และสั่งซื้อซิโนแวค แม้ไทยจะเป็นมิตรที่ดีกับจีนและจีนเพิ่งบริจาคซิโนแวคให้เรา 5 แสนโดส ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะได้วัคซีนจากจีนตามที่เราสั่งซื้อเสมอไป ยิ่งเมื่อ WHO ประกาศรับรองการใช้ซิโนแวคในภาวะฉุกเฉิน ทำให้โครงการ COVAX สามารถสั่งซื้อวัคซีนตัวนี้ได้ ทำให้ demand ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ด้านซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำลังนำเข้า มีข้อมูลว่าตั้งเป้าหมายผลิตให้ได้ 3 พันล้านโดสในสิ้นปีนี้ แต่ตัวเลขถึงเดือนพฤษภาคมเพิ่งผลิตได้เพียง 400 ล้านโดส สำหรับใช้ในประเทศและส่งออก กำลังขยายการผลิตโดยร่วมมือกับต่างประเทศเช่น UAE ให้ร่วมเป็นฐานการผลิต ปัจุบันมีมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจวัคซีนตัวนี้ โดยมีประมาณ 80 ประเทศอนุมัติให้ใช้ในประเทศเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว
เห็น demand/ supply ของวัคซีนในตลาดโลกที่มีการจองล่วงหน้านานแล้ว ไม่กล้าคิดถึง 105.5 ล้านโดสของไทยที่เพิ่งทำการจองเลย เอาแค่แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสที่จองไว้ก่อนหน้านี้ถึงตอนนี้ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะมาถึงมือเมื่อไร
ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนว่าจะได้วัคซีนทันตามกำหนด ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนว่าจะเปิดประเทศได้ใน 120 วัน
.
.
.
เรื่อง เพ็ญนภา หงษ์ทอง
.
แหล่งข้อมูล