Caregiver ในระบบ Long Term Care เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน

Home / บทความทั้งหมด / E-MAGAZINE / Caregiver ในระบบ Long Term Care เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน
Caregiver ในระบบ Long Term Care เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน

“บ่ ไห้ บ่ ไห้ หมอมาเยี่ยม”  สุภาพร แก่นมั่น พูดพลางลูบมือยายบุญ หญิงชราติดบ้านติดเตียง ที่ได้รับการพยุงให้ลุกขึ้นนั่งบนเสื่อผืนเล็กที่ปูไว้หน้าบ้าน

“ใครมาเยี่ยมก็ปลื้มใจ ร้องไห้ทุกที” เธอหันมากล่าวกับทีมของเราซึ่งเป็นนักวิจัยที่มาทำการถอดบทเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพสำหรับการดูแลระยะยาว ซึ่งสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ของความสำเร็จในการดำเนินรูปแบบให้บริการระยะยาว ภายใต้การบริหารจัดการกำลังคนในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ระบบบริการสุขภาพสามารถสร้างกำลังคนในระบบให้เพียงพอกับความต้องการของประชากรที่จะมีจำนวนผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ

นับตั้งแต่มีกองทุนเพื่อการบริการสุขภาพระยะยาว (LTC) ดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2559 ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยก็มีกำลังคนด้านสุขภาพกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อว่า ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง หรือที่เรียกกันติดปากตามอักษรย่อภาษาอังกฤษว่า CG ที่มาจากคำเต็มว่า caregiver สุภาพรก็เป็นหนึ่งใน CG ภายใต้กองทุนนี้ ซึ่งยากมากที่จะบอกได้ว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยมี CG ภายใต้กองทุน LTC ของ สปสช. จำนวนเท่าไร

 

เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน

การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงกำลังเป็นปัญหาท้าทายสังคมไทยมากขึ้นทุกที ตามจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงคือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งตามตัวเลขของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 4 แสนคน และจะเพิ่มเป็น 1.3 ล้านคนในอีก 20 ปี การเตรียมสร้างระบบเพื่อดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ปี 2559 สปสช. จึงได้จัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อให้บริการการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยมี CG เป็นกำลังสำคัญ งานหลักคือการลงเยี่ยมบ้านช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง หรือที่บางครั้งเรียกกันว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ดูแลด้านกิจวัตรประจำวัน อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนข้าว ป้อนยา คัดกรอง ประเมินปัญหาสุขภาพและให้บริการด้านสุภาพเบื้องต้น โดยให้บริการตามแผนการดูแลรายบุคคล (Care plan) ซึ่งจะมีบุคลากรด้านสุขภาพที่รับหน้าที่ผู้จัดการเคส (CM) เป็นผู้ทำไว้ให้

ในครั้งแรกกองทุน LTC กำหนดคุณสมบัติ CG ว่าต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษามัธยมต้น และต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตร CG ของกรมอนามัย แต่ปรากฏว่าหลายพื้นที่ไม่สามารถหาคนได้จึงต้องปรับลดวุฒิการศึกษาลงมาเหลือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประกอบกับการคำนวณค่าตอบแทนของ CG ตามกองทุน LTC ของ สปสช. มีความซับซ้อนและจ่ายค่าตอบแทนได้จำนวนไม่มาก ทำให้ CG กลายเป็นการทำงานในลักษณะจิตอาสาที่ได้รับค่าตอบแทนเล็กน้อย CG ส่วนใหญ่ของกองทุน LTC จึงเป็น อสม. เดิมที่มาเข้ารับการอบรมเพิ่ม ทำให้งานดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงทำได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะ อสม. เองก็มีงานล้นมือกันอยู่แล้ว ทั้งการทำมาหากินในชิวิตประจำวัน และการทำงานฐานะ อสม. ซึ่งเป็นงานลักษณะจิตอาสา เช่นกัน และที่มากกว่านั้น อสม. หลายคนสวมหมวกงานกึ่งจิตอาสาให้กับภาครัฐหลายใบอยู่ก่อนแล้ว

ก่อนหน้าที่จะสวมหมวก CG สุภาพร รับบทบาทการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อยู่ก่อน และทุกวันนี้แม้จะมีบทบาทหน้าที่ของ CG เพิ่มขึ้น เธอก็ยังไม่ทิ้งงาน อสม. เดิม

เสื้อขาว หน้าอกด้านซ้ายปักชื่อและตำแหน่งอ่านได้ว่า “นักบริบาลผู้สูงอายุ” หน้าอกด้านขวาปักโลโก้รูปคน 2 คน โค้งตัวเข้าหากันเป็นสัญลักษณ์รูปหัวใจ ภายในเป็นรูปผู้สูงอายุ 2 คน เดินจูงมือกัน และมีตัวหนังสือล้อมรอบว่า ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ตำบลนาเจริญ กางเกงสีดำ ล่วมยา ภายในบรรจุอุปกรณ์ทำแผลพื้นฐาน กรรไกรตัดเล็บ เครื่องวัดความดัน และอื่นๆ เป็นเครื่องแบบและอุปกรณ์ประจำตัวที่ทำให้รู้ว่าขณะนั้นเธอกำลังสวมหมวก CG ภายใต้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตำบลนาเจริญ ของอบต. นาเจริญ อ.เดชอุดม จ. อุบลราชธานี

“ทำงานเป็น CG สัปดาห์ละประมาณ 3 วัน ออกเคสร่วมกับเพื่อน จะไปด้วยกัน 2 คน เพื่อช่วยกัน บางครั้งต้องพลิกตัวคนไข้ทำคนเดียวไม่ไหว” เธอกล่าวพร้อมด้วยรอยยิ้มละไมบนใบหน้า

ยายบุญ เป็นหนึ่งในผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ที่ก่อนหน้านี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่คนเดียวบนที่นอน มี ลูกสาวคนหนึ่งที่ลาออกจากงานมาอยู่เฝ้าแม่เป็นเพื่อน ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงบางคนอาจโชคดี มีลูกหลาน หรือญาติมิตรอยู่เป็นเพื่อน แต่นั่นอาจต้องแลกมาด้วยการลาออกจากงาน และความเครียดจากการที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด

“การมี CG ก็เหมือนมาช่วยแบ่งเบาภาระญาติให้ได้พักบ้าง  หรือมีคนมาอยู่เป็นเพื่อนคนแก่ที่ไปไหนไม่ได้ไม่ให้เหงา” ศศินันท์ สายแวว พยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) นาเจริญ ซึ่งรับหน้าที่ CM ประจำตำบลด้วยกล่าว

 

จากการดูแลกิจวัตรประจำวันถึงการเป็น CG เฉพาะทาง

จากการฝึกอบรม 70 ชั่วโมงตามหลักสูตรของกรมอนามัย ทำให้ CG ส่วนใหญ่ จะมีความรู้พื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเพิ่มมากขึ้นจากการเป็น อสม. เดิม อย่างไรก็ดี จากการเก็บข้อมูลของทีมถอดบทเรียนของ สวค. พบว่า งานหลักของ CG ส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลกิจวัตรประจำวัน วัดความดัน พลิกตัวกันแผลกดทับ และการทำแผลเล็กๆ น้อยๆ มีส่วนน้อยที่จะสามารถทำงานด้านอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ที่มีความพร้อมหรือความเข้มแข็งของงานปฐมภูมิหรืองานเยี่ยมบ้านอยู่แล้ว

“อู………….อู……” “อา……อา…..” เสียงแผ่วๆ ของลุงทองม้วน อุปนิ ดังคลอตามเสียงของบังอร สงวนพิมพ์ CG ของเทศบาลตำบลบัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

“ลุงมีปัญหาเรื่องการออกเสียง และการขยับแขนขา เราก็มาพาลุงฝึกออกเสียงบ่อยๆ มาใหม่ๆ ลุงไม่ออกเสียงอะไรเลย” บังอรบอกเล่าการดูแลลุงทองม้วน ที่ล้มป่วยด้วยโรค Stroke มานานกว่า 10 ปี และไม่สามารถขยับแขนหรือออกเสียงพูดได้ ตอนที่เธอมารับหน้าที่ CG ใหม่ๆ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว วันนี้นอกจากลุงจะออกเสียงตามบังอรได้บ้างแล้ว บางวันเธอยังเปิดเพลงจากยูทิวบ์ให้ลุงได้ออกเสียงคลอตามเป็นคำๆ “เรารู้มาว่าลุงชอบร้องเพลง เลยใช้เปิดคลิปเพลงที่ลุงชอบให้ดูเพื่อให้ฝึกออกเสียง”

บังอรเป็นหนึ่งใน CG ประมาณสิบคนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลบัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ด้วยภูมิหลังที่รับหน้าที่เป็น อสม. มาเป็นเวลานาน เมื่อโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ประกาศรับอาสาสมัครเข้าอบรม CG ในปี 2559 ที่สปสช. เปิดดำเนินการกองทุนสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาว (LTC) เธอจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมโดยไม่ได้คำนึงว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนหรือไม่ อย่างไร ลุงทองม้วนเป็นหนึ่งในผู้ป่วยสูงอายุติดบ้านติดเตียงที่อยู่ในความดูแลของเธอ เมื่อว่างจากงานประจำเธอจะมาดูแลลุงตาม Care plan ที่อรุณวรรณ แสงฤทธิ์ ผู้จัดการเคส (CM) แห่ง รพร.กุฉินารายณ์กำหนดไว้ให้

 

อรุณวรรณบอกว่าเธอจะเพียงแค่กำหนดคร่าวๆ ว่าผู้ป่วยรายไหนต้องการการดูแลอย่างไร CG ในพื้นที่ของเธอจะช่วยกันคิดค้นกิจกรรมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยเอง ลุงทองม้วนต้องการการฝึกออกเสียงและขยับแขน การเล่นนับนิ้ว หรือออกเสียง อะ อุ อา รวมถึงการร้องเพลงจึงถูกนำมาใช้ ขณะที่กับผู้ป่วยรายอื่น ที่ต้องการการขยับขา เศษผ้าเก่าข้างตัวผู้ป่วยถูกนำมาประยุกต์เป็นอุปกรณ์เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ขยับแข้งขยับขาเอง

“เราพยายามไม่ทำให้ แต่จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำเอง เราทำหน้าที่สนับสนุน คอยให้กำลังใจและคำแนะนำ” บังอร กล่าว

การสร้าง CG ที่มีทักษะพื้นฐานของการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของอำเภอกุฉินารายณ์ เป็นการขับเคลื่อนงานด้าน LTC ของจังหวัดกาฬสินธุ์อย่างเป็นระบบ โดยมี สุรศักดิ์  ติลการยทรัพย์ หัวหน้าแผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลกาฬสินธุ์เป็นผู้วางรากฐาน

“เราให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายผู้ป่วยที่มาภาวะพึ่งพิงทุกช่วงวัย ตั้งแต่ก่อนจะมีกองทุน LTC” สุรศักดิ์กล่าว

สิ่งที่สุรศักดิ์วางรากฐานให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์คือการสร้างบุคลากรที่เรียกว่า หมอโฮมสุข ขึ้นมาในระบบสุขภาพของจังหวัด โดยนำ อสม. มาฝึกอบรมพื้นฐานความรู้และทักษะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพกับนักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน และให้ลงพื้นที่ทำงานฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าต้องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายพร้อมกับนักกายภาพบำบัดชุมชนของโรงพยาบาล เพื่อให้มีการเสริมและฟื้นฟูทักษะหน้างานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ สปสช. เปิดดำเนินการกองทุน  LTC งานฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และอยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพจะถูกตัดจากการดูแลของหมอโฮมสุขมาสู่การดูแลของ CG ซึ่งหลายคนอาจยังไม่มีพื้นฐานงานฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ทำให้เกิดแนวคิดว่าควรมีการสร้าง CG ให้มีความเชี่ยวชาญเรื่องงานฟื้นฟูด้วย ทั้งนี้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายเป็นความต้องการพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้ป่วยติดบ้านเพื่อไม่ให้ทรุดลงไปสู่ภาวะติดเตียง

“ตอนนี้ CG ยังได้รับการฝึกอบรมเน้นไปที่งาน nursing care เราควรสร้างให้ CG มีทักษะด้านการฟื้นฟูมากขึ้น” สุรศักดิ์แสดงความเห็น ซึ่งได้รับการตอบรับจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นภาคีหลักในการจัดระบบบริการ LTC ในพื้นที่

“ตอนนี้เริ่มมีการบูรณาการงานเข้าด้วยกันแล้ว CM ของงาน LTC จะคุยกับนักกายภาพของศูนย์โฮมสุขว่าจะร่วมกันดูแลเคสอย่างไร แล้วก็ดีไซน์ care plan ให้เอื้อประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั้งด้านการดูแลระยะยาวและการฟื้นฟูสมรรถภาพในเวลาเดียวกัน” เจนศักดิ์ อาญารัตน์ ปลัดเทศบาลตำบลนาจารย์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ กล่าว

ความพยายามในการสร้าง CG ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เป็นต้นแบบให้หลายพื้นที่ที่อยู่ในโครงการวิจัยถอดบทเรียนการจัดบริการกำลังคนด้านสุขภาพสำหรับการดูแลระยะยาวของ สวค. อยากสร้าง CG เฉพาะทางเช่นนี้บ้าง

 

จากจิตอาสาสู่การจ้างงานเต็มเวลา

การที่การทำงานของ CG ตั้งอยู่บนฐานของลักษณะงานจิตอาสา โดยมี อสม. เป็นผู้เล่นหลัก ทำให้การจัดบริการ LTC ของประเทศขาดความเข้มแข็ง เพราะยังไม่มีหลักประกันว่าผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงจะได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ จากการเก็บข้อมูลของทีมวิจัย สวค. พบว่า แม้ Care plan จะกำหนดระยะเวลาที่ CG จะต้องให้การดูแลผู้ป่วย แต่ก็ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมกับความต้องการการดูแลของผู้ป่วยได้  care plan ส่วนใหญ่จึงกำหนดงานให้ CG ว่า ลงเยี่ยมเคสละ 1-2 ครั้ง ใน 1 สัปดาห์ แล้วแต่ว่า CG จะสะดวกลงไปดูแลเมื่อไร

 

“ต้องยอมรับว่า CG ที่เรามีอยู่ยังน้อยมาก แล้วเป็นงานกึ่งอาสาสมัคร

ก็ต้องยอมรับว่าคุณภาพจะได้ไม่เต็มร้อย ดูได้บ้าง ดูไม่ได้บ้าง 

ถ้ามีนักบริบาลที่จ้างมาเต็มเวลา เป็นงานที่ต้องทำแลกกับเงินเดือนน่าจะดีขึ้น”  

  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดกองทุน LTC กล่าว

สปสช. ได้กำหนดค่าตอบแทนให้กับ CG ด้วย โดยกำหนดกรอบกว้างๆ CG ที่ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง 5-10 คน ให้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน LTC  เดือนละ 1,500 บาท CG ที่ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงน้อยกว่า 5 คน ให้ได้รับการสนับสนุนเดือนละ 600 บาท ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีวิธีการบริหารจัดการงบประมาณในส่วนนี้แตกต่างกันไป บางพื้นที่ใช้วีเบิกเงินมารวมกันแล้วหารเฉลี่ยให้ CG ทุกคนได้ค่าตอบแทนเท่ากัน โดยเฉลี่ยเนื้องานให้เท่าๆ กันด้วย  บางพื้นที่ใช้วีกำหนดค่าตอบแทนเป็นรายวันตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของพื้นที่ แล้วจัดสรรงานและจำนวนวันให้เหมาะสม จ่ายค่าตอบแทนเฉพาะวันที่ CG ได้รับมอบหมายให้ทำ

สามารถสรุปความหลากหลายของรูปแบบ CG และการจ่ายค่าตอบแทนได้ดังตาราง ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของการจ่ายค่าตอบแทนได้อย่างชัดเจน

สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย สามภาคีหลักในการจัดบริการ LTC เองก็ตระหนักถึงปัญหานี้การทำงานในลักษณะกึ่งจิตอาสา เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นงานหนัก และต้องการคุณภาพ จึงพยายามหาทางแก้ไข จนนำสู่การออกประกาศของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งต้องกำหนดกรอบอัตราจ้าง “อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น” อย่างน้อยท้องถิ่นละ 2 คน หากพื้นที่ใดมีผู้ที่ต้องการบริการ LTC มากกว่า 8 คน สามารถพิจารณาเพิ่มตำแหน่งได้ แม้จะใช้คำว่า “อาสาสมัคร” แต่เป็นการทำงานแบบมีค่าตอบแทนโดยผู้ที่ผ่านการอบรม 70 ชั่วโมง (ซึ่งส่วนใหญ่ CG ปัจจุบันก็ผ่านการอบรมหลักสูตร 70 ชม. ของกรมอนามัยกันมาแล้ว) จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท หาก CG คนใดเข้ารับการอบรมอาสาสมัครบริบาลเพิ่มอีก 50 ชม. ก็จะได้รับค่าตอบแทน 6,000 บาท   สรุปง่ายๆ ก็คือว่า คนที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นต้องเป็นผู้ที่เป็น CG อยู่ก่อน และหาก CG  คนใดรับการอบรมเพิ่มเติมอีก 50 ชั่วโมง ซึ่งเท่าที่ผีเสื้อขยับปีกได้ข้อมูลมาจะเป็นการอบรมด้าน medical care ตามหลักสูตรที่กรมการแพทย์จะพัฒนาขึ้น ก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ไม่ใช่ CG ทุกคนจะเข้ามาเป็นอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นได้ ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของท้องถิ่นก่อน

จากการสอบถาม CG หลายคนเห็นด้วยที่จะมีการกำหนดงาน CG ให้เป็นรูปแบบของการจ้างงานเต็มเวลา และจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม และพร้อมจะเข้ามาเป็น CG มืออาชีพแบบเต็มเวลา ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย บ้างมองในเรื่องความจำเป็นทางเศรษฐกิจ “เราก็ต้องกินต้องใช้ ทุกวันนี้ค่าน้ำมันก็ออกเอง บางทีไปเยี่ยมเราก็ต้องซื้อของติดไม้ติดมือไปเยี่ยม” บ้างมองในเชิงความต่อเนื่องของการทำงาน “อยากไปดูคนป่วยบ่อยๆ เราหายไปนานเขาก็ถามหา แต่เราก็ต้องทำงานไปบ่อยก็ไม่ได้”  ขณะที่มีอีกหลายคนเห็นด้วยกับการจ้างงานเต็มเวลา แต่ตัวเองจะไม่สมัครเข้ารับจ้าง “ไม่ได้อยากได้เงิน ที่มาทำเพราะอยากช่วย แล้วเราก็ใช้เวลาว่างมา ทุกวันนี้มีงานทำมีรายได้พออยู่แล้ว

ขณะที่ CM หลายคนสนับสนุนการมีนักบริบาลเต็มเวลา นอกจากมุมมองในเรื่องคุณภาพแล้ว ยังจะเป็นการรักษากำลังคน CG ไว้ในระบบ ทั้งนี้ในหลายพื้นที่ เริ่มพบว่ามี CG บางคน หลุดจากระบบบริการของกองทุน LTC ไปสู่การจ้างงานของเอกชน ซึ่งให้ค่าตอบแทนอยู่ที่ 12,000 -15,000 บาท ต่อเดือน

อย่างไรก็ดียังไม่ชัดเจนว่าตำแหน่งงาน “อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น” ของกระทรวงมหาดไทยที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อปิดช่องโหว่ของการจ่ายค่าตอบแทน CG ในระบบของกองทุน สปสช. ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ซึ่งมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพนั้น จะเริ่มจ้างได้เมื่อไร และจะมีกระบวนการคัดเลือกอย่างไร

ในวันนี้ CG ในระบบบริการ LTC จึงยังคงเป็นจิตอาสาที่ทำงานด้วยใจและรอยยิ้ม “ถ้าเขาจ้างเต็มเวลาก็อยากทำ แต่ไม่จ้าง ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำของเราอยู่แล้ว” สุภาพร CG สาวแห่งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตำบลนาเจริญ อ.เดชอุดม จ. อุบลราชธานี กล่าวทิ้งท้าย

 

เรื่อง: เพ็ญนภา หงษ์ทอง

ภาพ: สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ