Health Tech ทางเลือกของผู้ให้และผู้รับบริการสุขภาพ

Home / บทความทั้งหมด / E-MAGAZINE / Health Tech ทางเลือกของผู้ให้และผู้รับบริการสุขภาพ
Health Tech ทางเลือกของผู้ให้และผู้รับบริการสุขภาพ

ออกจากบ้านตี 4 พบหมอ 9 โมงเช้า คุย ตรวจ และรับใบสั่งยาใน 5 นาที รอคิวรับใบนัดครึ่งชั่วโมง รอคิวชำระเงิน 1 ชั่วโมง รอคิวรับยา 1 ชั่วโมง กลับบ้านกินยาตามหมอสั่งอีก 2 เดือนมาใหม่ตามนัด

ไม่ว่าเวลาเดินผ่านไปกี่เดือนกี่ปี ระบบนิเวศของบริการสุขภาพ  (health care ecosystem) เปลี่ยนไปเช่นไร การรอคอยเพื่อพบแพทย์ในสถานบริการไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปจากระบบบริการสุขภาพบ้านเรา โลกปัจจุบันที่หมุนไปข้างหน้าด้วยแรงขับเคลื่อนของเทคโนโลยี ระบบนิเวศของบริการสุขภาพมีตัวละครใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา และตัวละครล่าสุดที่มาพร้อมเทคโนโลยีด้านบริการสุขภาพที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดีที่สุด บนต้นทุนที่ถูกที่สุด ทั้งต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของระบบคือ Health Tech Startup

Health Tech startup เป็นกลุ่มของสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตขยายตัวในสังคมโลก และแพร่หลายเข้าสู่สังคมไทยเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา อาจเพราะประชากรที่เข้าสู่วัยสูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น ความต้องการการดูแลด้านสุขภาพระยะยาวจึงเพิ่มตาม เทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้รวมทั้งคนวัยอื่นที่ต้องการบริการด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงบริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ในสถานบริการ จึงทำให้สังคมเปิดรับในเวลาอันสั้น ผีเสื้อขยับปีกฉบับนี้พาทุกท่านไปสำรวจระบบนิเวศใหม่ของบริการสุขภาพในวันที่ health tech เริ่มมีบทบาทและที่ทางที่ชัดเจนในระบบบริการสุขภาพบ้านเรา

 

ทำความรู้จักสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ

สตาร์ทอัพด้านสุขภาพเป็นกลุ่มของสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของระบบบริการสุขภาพ ฟังเผินๆ สตาร์ทอัพด้านสุขภาพไม่น่าจะมีหลักคิดที่ต่างจากสตาร์ทอัพด้านอื่น หัวใจสำคัญของสตาร์ทอัพคือ โมเดลธุรกิจนั้นต้องสามารถสร้างกำไรได้เรื่อยๆ และสามารถเติบโตขยายตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่เนื่องจากระบบสุขภาพเป็นระบบที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและความเป็นความตายของคน การนำแนวคิดธุรกิจที่เน้นวัดความสำเร็จด้วยผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินมาเป็นแนวทางหลักในการทำงานจึงอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จที่นำมาปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์

ถ้าเรามองที่คำว่า startup อย่างเดียว แล้วเอาบริบททั่วไปมาจับด้าน health tech  มันแทบไม่ make sense เลย เช่น โครงสร้างการระดมทุน คอนเซปท์ startup คือทำสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงในปริมาณที่เล็กๆ ก่อนเพื่อให้มีคนคือนักลงทุนมาสนับสนุน หรืออะไรข้างนอกทำให้มันโตหากธุรกิจทั่วไปต้องทำให้โตภายในสิบปี สตาร์ทอัพต้องได้ภายในสองปี แต่ด้านสุขภาพในแง่ธุรกิจมันไม่ได้มีอย่างนั้น มันอยู่ที่คุณค่าที่มันสร้างด้านสังคมต่างหาก ซึ่งมันตีเป็นมูลค่าไม่ได้… ปัจจัยของสตาร์อัพด้านสุขภาพจึงไม่สามารถเอาไปเทียบเคียงกับด้านอื่นได้เลย จักร โกศัลยวัตร นายกสมาคมสตาร์ทอัพด้านสุขภาพประเทศไทย (Thai Health Tech Trade Association) กล่าว

การทำสตาร์ทอัพด้านสุขภาพจึงต้องการแรงสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐที่เป็นคนคุมระบบบริการด้านสุขภาพของประเทศในปัจจุบัน

 

บทบาทของ health tech ในระบบสุขภาพ

บทบาทสำคัญที่สตาร์ทอัพด้านสุขภาพมีในระบบบริการสุขภาพปัจจุบันคือการตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพที่ระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งหมดในปี 2559 เป็นร้อยละ 17 ในปี 2560 การเตรียมพร้อมรับมือปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดตั้งกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ในปี 2559 เพื่อสนับสนุนเงินกองทุนให้กับทีมหมอครอบครัว หน่วยบริการและเครือข่ายบริการปฐมภูมิในพื้นที่ทั่วประเทศรวมทั้งกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมงานกับกองทุนนี้ด้วย แต่กองทุนดังกล่าวมีแนวโน้มจะตอบโจทย์ความต้องการของคนชนบท เนื่องจากผู้ดูแล (care giver) ที่กองทุนฯ สามารถจัดหาเข้าสู่ระบบได้ส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญในระบบบริการสุขภาพและได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในชนบท  ขณะที่สังคมเมือง อสม.มีบทบาทค่อนข้างน้อยและไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าไรนัก บทบาทของกองทุนต่อผู้สูงอายุในเมืองจึงมีค่อนข้างน้อย ทั้งที่ผู้สูงอายุในเมืองต้องการการดูแลไม่ต่างจากผู้สูงอายุในชนบท และต้องการผู้ดูแลที่ทำให้ลูกหลานของผู้สูงอายุสามารถเชื่อมั่นในคุณภาพได้จริง

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ แพทย์อายุรกรรมที่ผ่านการเทรนด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) จาก Icahn School of Medicine at Mount Sinai มองเห็นความต้องการของผู้สูงอายุในเมืองและมองเห็นช่องว่างนี้ของระบบบริการสุขภาพจึงได้ตั้ง Health at Home สตาร์ทอัพเพื่อให้บริการจัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุให้ถึงบ้าน

เรื่องผู้ดูแลไม่ว่าใครก็บ่นว่าเป็นปัญหา ดูแลยาก ได้ผู้ดูแลดีนี่เหมือนถูกล็อตเตอรี่เลย มันเป็นตลาดที่ค่อนข้าง niche ไม่ค่อยมีใครสนใจ รพ. ก็จะสนใจ acute care, ICU อะไรทำนองนี้ มันเลยเหมือนเป็นตลาด Blue Ocean ที่ยังเละเทะอยู่ ไม่มีใครจัดการ เราก็เลยคิดว่าอยากเข้ามาทำ เอาความรู้ที่เรามี เอาเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้เป็นระบบมากขึ้น

Health at Home เลือกที่จะเทรนผู้ดูแลเองโดยมีความร่วมมือกับสถานบริการเพื่อเป็นแหล่งฝึก มีเครดิตความเป็นแพทย์ของผู้ก่อตั้งเป็นเครื่องรับประกัน สื่อสารกับครอบครัวผู้รับบริการด้วยแอปพลิเคชั่นทันสมัย สร้างชื่อเสียงจากปากต่อปากของ อย่างไรก็ดี นพ. คณพล ยอมรับว่าสตาร์ทอัพของตนเองตอบโจทย์แค่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อเพียงกลุ่มเดียว

ประชาชนระดับล่างมีกองทุนของ UC ดูแลอยู่ ระดับบนหรือที่มีกำลังซื้อก็มีเอกชนหรือบริการอย่างของเรารองรับได้ ผมว่าคนชั้นกลางเป็นคนกลุ่มคนที่รัฐต้องเข้ามาอุดช่องโหว่ให้มากที่สุด

นักธุรกิจสตาร์ทอัพหลายคนกระโจนลงสู่เวทีนี้ด้วย pain point ส่วนตัว ที่เกิดจากจุดอ่อนของระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน และมองเห็นโอกาสที่จะใช้ทักษะและความสามารถของตนเองเพื่อเติมเต็มระบบสุขภาพ

จักร โกศัลยวัตร CEO ของ Pharmasafe แอปพลิเคชั่นที่เตือนเรื่องการใช้ยา ทั้งเวลาใช้ ทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดการรับยาซ้ำซ้อนจนอาจ overdose ทั้งความเสี่ยงจาก interaction ของยาแต่ละตัวที่ผู้ป่วยรับ เป็นคนหนึ่งที่ก้าวเข้ามาทำธุรกิจ health tech ด้วยเหตุผลของบาดแผลส่วนตัว

คุณพ่อเป็นเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน พอพาไปโรงพยาบาล ห้องฉุกเฉินก็ถามว่าทานยาอะไรประจำ หรือแพ้ยาอะไร ซึ่งผมตอบไม่ได้ เราต้องใช้เวลาเยอะในการหาข้อมูล โทรกลับไปหาที่บ้าน กว่าจะหายา ยาเก่ายาใหม่ปนกับยาของแม่ด้วย กว่าจะสะกดชื่อภาษาอังกฤษ กว่าจะบอกหมอ เรามองว่าภาวะฉุกเฉินแบบนี้เราใช้เวลาหาข้อมูล 20 นาที มันเป็นความเป็นความตาย ทำไมโรงพยาบาลถึงต้องเก็บข้อมูลผู้ป่วยไว้ ทั้งที่มันเป็นข้อมูลที่ช่วยชีวิตเขา และเขาเป็นเจ้าของข้อมูลมีสิทธิใช้

ความไม่คล่องตัวในการค้นหารายการยาของคุณพ่อ นำสู่การออกแบบแอปพลิเคชั่นที่สามารถเก็บข้อมูลยาจากทุกแหล่งที่ผู้ป่วยได้รับ ได้แก่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลทุกแห่งที่ผู้ป่วยรับบริการ รวมทั้งร้านขายยาที่ผู้ป่วยอาจซื้อยากินเอง จักรมองว่าแพลทฟอร์มที่เขาและเพื่อนๆ ร่วมกันสร้างขึ้นมาไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังแบ่งเบาภาระงานของผู้ให้บริการ และสนับสนุนให้ระบบบริการสามารถดูแลผู้ป่วยได้ครอบคุลุมและลดความเสี่ยงด้วย

เช่นเดียวกับ Diamate แอปพลิเคชั่นเพื่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน หนึ่งในโรคเรื้อรังที่ผู้สูงอายุเป็นมาก โดยเน้นให้ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวที่บ้านร่วมกับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อลดการไปรับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งเกิดจาก pain point ส่วนตัวของ พงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการบริษัท เทรคิน (เวบไซต์) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชั่น Diamate  ที่ต้องสูญเสียคุณตา คุณอา และคุณลุง ให้กับภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน

พงษ์ชัยได้ทำการเก็บข้อมูลและพบปัญหาว่าผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัญหาการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออยู่ที่บ้าน ไม่ทราบว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ และอาหารที่กินได้ควรต้องกินในปริมาณเท่าไรจึงจะไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด Diamate จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเมื่ออยู่ที่บ้าน ร่วมกับการให้ข้อมูลอาหาร คาร์โบไฮเดรต และอาการที่เกิดขึ้น  เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นข้อมูลจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรับบริการอยู่ โดยมีเงื่อนไขว่าโรงพยาบาลนั้นต้องติดตั้งระบบของ Diamate ด้วย

เรามองว่าการให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นแบบนี้เป็นการแบ่งเบาภาระของบริการสาธารณสุข 3 ส่วน คือเชิงรุก เชิงลด และเชิงร่วม พงษ์ชัย กล่าว 

โดยเชิงรุกหมายถึง การลดความเสี่ยงก่อนที่จะป่วย ส่งเสริมให้เกิดการดูแลตนเอง เชิงลดหมายถึงการลดภาวะแทรกซ้อน เพราะสามารถช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้มีประสิทธิภาพ และเชิงร่วมหมายถึงการร่วมมือกับสถานพยาบาล รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยป่วยอยู่มากถึง 4.8 ล้านคน และต้องพบแพทย์เพื่อรับยาและปรับระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่านวัตกรรมของ Diamate ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีอาการซับซ้อนไม่ต้องออกจากบ้านตีห้า เข้าคิวเจาะเลือดตอน 6 โมงเช้า พบหมอเพื่อฟังผลตอน 9 โมง เพื่อที่หมอจะบอกว่า “ผลเลือดดีมากเลยป้า” แล้วคนไข้ได้รับยาเดิมกลับบ้าน ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลลดความแออัดลงได้มาก

เมื่อสำรวจระบบนิเวศของ health tech startup ในบ้านเราพบว่าประกอบไปด้วยนวัตกรรมที่เข้ามาเติมเต็มด้านต่างๆ ในหลาย touch point ของระบบบริการสุขภาพ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล ที่เชื่อมแพทย์และผู้ป่วยเข้าหากันด้วยเทคโนโลยีทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปแออัดกันที่โรงพยาบาล ทั้งการปรึกษาแพทย์ผ่าน video call ทางข้อความ หรือระบบเสียง ซึ่งบ้านเรายังไม่พัฒนาไปไกลเหมือนประเทศจีนที่สามารถผ่าตัดทางไกลด้วยเทคโนโลยี G5 แล้ว  ระบบการค้นหาและจับคู่บริการ เช่น การค้นหาและนัดหมายแพทย์เฉพาะทางใกล้บ้าน ระบบการจัดคิวที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถจัดการเวลาของตัวเองได้มากขึ้น ระบบบริหารจัดการร้านยาและคลินิก ระบบที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพส่วนตัว เช่น แพลทฟอร์มเตือนการทานยาและการนัดพบแพทย์ แอปพลิเคชั่นที่ช่วยเรื่องการดูแลอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพและการแพทย์ เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น จะเห็นได้ว่า health tech เข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมบุคลากรด้านสุขภาพและบริการด้านสุขภาพโดยไม่ต้องมีสถานที่นัดพบทางกายภาพ รับบริการได้ทุกที่ทุกเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยแทนการพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ตลอด แน่นอนว่า Health tech แต่ละตัวจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้บริการและผู้รับบริการคือบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยจะเปิดรับเทคโนโลยีนี้กันด้วยหรือไม่

           

ผลกระทบต่อบุคลากรด้านสุขภาพ

คุณพยาบาลแฮปปี้เลย ไม่ต้องมานั่งเรียกคิวคนไข้

นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตอบทันทีเมื่อถูกถามถึงผลที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรเมื่อโรงพยาบาลนำ health tech โดยเฉพาะ IOT มาใช้ โดยอ้างอิงถึงแอปพลิเคชั่น QueQ ที่ขยายบริการจากการจัดการคิวการจองร้านอาหารมาสู่คิวการรับบริการสุขภาพในโรงพยาบาล ที่สามารถจัดระบบคิวหลักของโรงพยาบาลเพื่อเชื่อมโยงทุกแผนกที่คนไข้คนหนึ่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการรับบริการแต่ละครั้งเข้าด้วยกัน ผู้ป่วยสามารถเช็คได้ได้ว่าถึงคิวของตนเองเมื่อไร จากข้อความที่ส่งเข้ามือถือ

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่กี่แห่งที่เปิดกว้างรับเทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้ามาในเกือบทุก touch point ของการบริการสุขภาพ มีความร่วมมือกับเอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้ตนเองเป็นโรงพยาบาลแห่งนวัตกรรมด้านสุขภาพ QueQ, Diamate, pharmasafe, Arincare, Ooca เป็นส่วนหนึ่งของ health tech startup ที่มีการใช้อยู่ใน รพ. อภัยภูเบศร ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ AIS ที่ทำให้ปราจีนบุรีมีสัญญาณ wifi ครอบคลุมทุกจังหวัด และกำลังจะทำความร่วมมือกับ Grab เพื่อให้รถตุ๊กตุ๊กๆ ซึ่งเป็นบริการขนส่งสาธารณะเดียวของปราจีนบุรีเข้าไปอยู่ในระบบ เพื่อให้คนไข้ที่จำเป็นต้องพบแพทย์ที่ รพ. สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น

นพ.โอฬาริก มองว่า health tech ที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถเข้ามาเป็นตัวแบ่งเบาภาระของระบบบริการสุขภาพได้เป็นอย่างดี คนไข้ไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์โดยไม่จำเป็นลูกหลานไม่ต้องแบกรับ indirect cost จากการต้องลางานพ่อพ่อ แม่ ไปพบแพทย์ โรงพยาบาลไม่แออัด  คนไข้มีวินัยในการดูแลตนเองมากขึ้น ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ลง

เทคโนโลยีมันไม่ได้น่ากลัว มันเป็นแค่ tool ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง โทรศัพท์ก็ใช่ ไลน์ก็ใช่ เราต้องใช้ให้เป็นและรู้ข้อจำกัดของมัน มันไม่มีเทคโนโลยีไหนใช้ได้กับคนไข้ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก เราต้องมาประยุกต์อีกที

นพ.โอฬาริก เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมแพทย์เฉพาะทางกับคนไข้ด้วยระบบการนัดหมายและปรึกษาทางไกล “ไม่ควรถามว่าชีวิตผมสะดวกขึ้นไหม ควรจะถามว่าคนไข้ได้รับความสะดวกในการรับบริการเพิ่มขึ้นไหม บางคนเมื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลแทบไม่มีโอกาสได้พบแพทย์เฉพาะทางเลย แต่ด้วยเทคโนโลยีเขาสามารถสื่อสารกับแพทย์เฉพาะทางได้” คุณหมอกล่าวเมื่อถูกถามถึงความเปลี่ยนแปลงในการทำงานของตนเองเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก

 

เกิดเอง โตเอง ไร้การสนับสนุนจากพี่ใหญ่ในวงการ

จากการที่สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่เน้นขายไอเดียที่มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ จึงต้องการการสนับสนุนด้านการลงทุนและการบ่มเพาะหรือตัวเร่งให้กับธุรกิจนั้นๆ เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์อุตสาหกรรมต่างๆ ในภาพรวมได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่าสตาร์ทอัพด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินหรือที่เรียกว่า Fintech ด้านประกันภัย (Insurtech) ด้านอสังหาริมทรัพย์ (Proptech) เมื่อเริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจที่อยู่ในวงการมาก่อน ในการเข้ามาทำหน้าที่บ่มเพาะเพื่อให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว จัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ จากต่างประเทศ และการร่วมสนับสนุนการลงทุน เช่น Fintech ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารใหญ่อย่างน้อย 2 แห่ง คือ SCB ตั้งกองทุนสนับสนุน Fintech Startup เพื่อดำเนินการสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านการเงิน 2 ด้าน คือด้านการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital และการทำ R&D เพื่อสร้างห้องแลปทดลองการสร้าง Startup ทำให้ SCB สามารถเข้ามามีบทบาทในการร่วมบ่มเพาะ (incubation) สตาร์ทอัพด้านการเงินให้กับประเทศได้อย่างเต็มทั่ว และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัดตั้ง Krungsri RISE เพื่อทำหน้าที่ Accelerator Program หรือตัวเร่งให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก ขณะที่ Insurtech ก็มี อยุธยา อลิอันซ์ เข้ามาเป็นผู้นำด้วยการตั้งโครงการ Allianz Ayudhya Activator ทำหน้าที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพ ไม่เพียงเฉพาะด้านประกันภัย แต่ยังรวมถึงด้านการเงินและสุขภาพด้วย  ขณะเดียวกันเอกชนอย่าง dtac ก็เข้ามาทำหน้าที่ incubator ให้กับสตาร์ทอัพหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านสุขภาพ โดยได้ตั้งโครงการ  dtac Accelerate จัดแข่งขันสตาร์ทอัพ  มีพี่เลี้ยงเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในไทย และวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้ มี Hangar ทำหน้าที่ Coworking Space สำหรับสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกด้วย

 ขณะที่สตาร์ทอัพด้านสุขภาพไม่ปรากฏว่ามีผู้เล่นรายใหญ่ในระบบสุขภาพเขามาทำหน้าที่ incubator โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน การสนับสนุนหลักนอกจากเอกชนที่ไม่ใช่สายตรงดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในภาพรวม ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ส่วนใหญ่ใช้บริการสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ  จักร นายกสมาคมสตาร์ทอัพด้านสุขภาพประเทศไทย มองว่าการที่โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ไม่เข้ามาเล่นบทบาทผู้สนับสนุนสตาร์ทอัพเหมือนอย่างสายธุรกิจอื่นน่าจะเป็นเพราะธรรมชาติของธุรกิจบริการสุขภาพที่เป็นบริการจำเป็น ลูกค้าหรือผู้รับบริการไม่มีทางเลือกมากต่างจากธุรกิจการเงินหรือประกันภัย

ผมว่าโรงพยาบาลมันเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด ในความรู้สึกผม ระบบแบบเดิมมันนอนกินง่ายอยู่แล้ว แค่ค่ายา หรือกำไรจากกฎเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งขึ้นได้ ในการรักษาโรค และสุขภาพเป็นธุรกิจที่ผู้ใช้ไม่มีทางเลือกมาก ป่วยก็ต้องรักษา ไม่ใช่ป่วยแล้วไปดูหนังแทนได้ ป่วยแล้วเที่ยวสวนสนุกแทนได้ มันต้องรักษา ทีนี้พอการที่อยู่โดยที่สบายดีอยู่แล้ว เลยไม่ต้องทำอะไร ซึ่งผมมองว่ามันเป็นความเสี่ยงของเขา

ขณะที่ นพ.โอฬาริก แห่ง รพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตอบคำถามนี้ด้วยข้อสังเกตสั้นๆ “คุณคิดว่าโรงพยาบาลรัฐอยากให้คนไข้มาหาที่โรงพยาบาลไหม และโรงพยาบาลเอกชนเขาอยากได้คนไข้ไปที่โรงพยาบาลชองเขาไหม”

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเจ้าของสถานบริการรายใหญ่สุดในประเทศเน้นการเป็นผู้ใช้นวัตกรรมมากกว่าการเป็นผู้สนับสนุนหรือบ่มเพาะให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพเพื่อระบบสุขภาพของประเทศ เป็นการทำในลักษณะรายสถานบริการมากกว่าการประกาศเป็นนโยบายระดับกระทรวง เช่น การร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลราชวิถีและ QueQ หรือโครงการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกับ Pharmasafe เพื่อบันทึกการใช้ยาแผนปัจจุบันกับยาสมุนไพรของผู้ป่วย เพื่อศึกษาปฏิกิริยาระหว่างยาทั้งสองขนาน  เมื่อพิจารณาจำนวนโรงพยาบาลที่นำเทคโนโลยีด้านสุขภาพผ่านทางสตาร์ทอัพมาใช้แล้วถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการใช้เทคโนโลยี จักรบอกเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินสายนำเสนอแอปพลิเคชั่น pharmasafe ให้กับโรงพยาบาลรัฐบางแห่งว่ายังมีการมองแอปพลิเคชั่นของเขาที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมี self-care  และลดความเสี่ยงในการใช้ยาว่าเป็น “threat”

ความเข้มแข็งและการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านสุขภาพของประเทศมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนนวัตกรรมอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ดำเนินโครงการที่เรียกว่า “ย่านนวัตกรรม” (Innovation District) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ในระดับพื้นที่ โดยให้ “ย่านโยธี” เป็นย่านนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่จะถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่รองรับสตาร์ทอัพสายสุขภาพ และเชื่อมโยงให้ทำงานกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุน และนวัตกรด้านสุขภาพ และสถานบริการด้านสุขภาพในย่านโยธีเพื่อยกระดับบริการด้านสาธารณสุขให้ขับเคลื่อนไปด้วยนวัตกรรม ทั้งนี้ย่านโยธีต่อเนื่องไปจนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นที่ตั้งของสถานบริการทางการแพทย์หลายแห่ง เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน คณะวิทยาศาสตร์-คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สถาบันสุขภาพเด็กฯ รพ.พระมงกุฎฯต่อเนื่องมาถึงรพ.รามาธิบดี สถาบันประสาท สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.สงฆ์ กรมแพทย์ทหารบก สถาบันโรคไต แต่ “ย่านโยธี” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนวัตกรรมและ สตาร์ทอัพด้านสุขภาพของประเทศสามารถเติบโตได้ในระดับหนึ่งแล้ว คำถามคือใครจะเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตนั้น

ขณะที่ DEPA ได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์ และกรมกิจการผู้สูงอายุเพื่อสร้างแพลทฟอร์มกลางของข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละคนที่ปัจจุบันมีอยู่อย่างกระจัดกระจายให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อนำไปต่อยอดการให้บริการสุขภาพในรูปแบบที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงให้กับผู้สูงอายุ โดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์

 

Health Tech เติมแต่ยังไม่เต็ม

จากภาพรวมระบบนิเวศของธุรกิจด้าน health tech ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าพุ่งเน้นไปที่การสร้างตนเองเป็นแพลทฟอร์มในการให้บริการที่ช่วยลดช่องห่างทางกายภาพระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ และยังสามาระสร้างหรือสนับสนุนให้การ self-care หรือการดูแลตัวเอง ลดการพึ่งพาหมอ แม้จะเป็นการเติมเต็มและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบบริการสุขภาพแต่การเข้ามาเติมครั้งนี้ก็ยังไม่เต็มช่องว่างที่มีอยู่

นพ. ชวกิจ ภูมิบุญชู รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเฝ้าดูและคอยให้การสนับสนุนด้านความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพให้สตาร์ทอัพหลายแห่ง กล่าวถึงสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพในระบบสุขภาพไทยว่า “สิ่งที่มองเห็นตอนนี้คือเราให้น้ำหนักกับการสร้าง application มากจนลืม infrastructure ด้านเทคโนโลยี คือการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นกลาง ได้มาตรฐานสากล ไม่ใช่ให้ข้อมูลลอยไปลอยมา”

ฐานข้อมูลกลางที่ นพ. ชวกิจ ต้องการเห็นคือแพลทฟอร์มของข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยที่เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างเป็นบูรณาการ เป็นการเก็บข้อมุลสุขภาพผุ้ป่วยไว้ที่แพลทฟอร์มกลาง ไม่ใช่การเก็บในแต่ละโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยไปใช้บริการซึ่งไม่มีการเชื่อมโยงเข้าหากัน เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยมาใช้ได้ทันที ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถเก็บรักษาความลับของข้อมูลผู้ป่วยได้ด้วย โดยต้องมองว่าผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลคือผู้ป่วยเอง ไม่ใช่โรงพยาบาลเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับคุณพ่อของ จักร โกศัลยวัตร ได้ และinfrastructure ที่จะช่วยให้เกิดการส่งต่อข้อมูลมีฐานแนวคิดเดียวกับแพลทฟอร์ม E-Health Open Data ที่ DEPA มีโครงการจะพัฒนา เพียงแต่ นพ.ชวกิจ ต้องการเห็นแพลทฟอร์มรวมข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น

นอกจากนี้ในส่วนของแอปพลิเคชั่นหนือสตาร์ทอัพด้านสุขภาพที่กำลังขยายปริมาณอยู่นั้น นพ. ชวกิจ มองว่ายังเป็นการขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง

ประเด็นคือคือฝ่ายนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติเชื่อมต่อ สื่อสารกันได้ดีแค่ไหน เราต้องดูว่าประเทศไทยวาง position ตัวเองยังไง เราจะเป็นหนึ่งด้านการท่องเที่ยว ด้าน medical hub  แล้วเราคิดว่า startup เราควรจะโฟกัสที่ไหน มันต้องมีกำหนดมาแล้ว ตอนนี้ทั้ง health tech, fintech, insurtech มันเกิดเต็มไปปหมด ต้องหาจุดโฟกัสแล้วว่าเราจะเน้นตรงไหน

เรากำลังมองหาอนาคตด้านบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากๆ เรายังมองอนาคตใกล้ไปหน่อยต้องมองอนาคตที่ไกลกว่านี้  สิ่งที่เราทำกันอยู่มันเป็น small innovation เราคาดหวังจะเป็น game changer แต่เราจับกันที่ pain point หรือ work flow เป็นจุดๆ ยังไม่มี innovation ที่มองทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม  นพ. ชวกิจ กล่าว

 

อนาคตของ Health Tech กับข้อจำกัดในประเทศไทย

ปัญหาด้านกฎหมายดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการเติบโตของ Health Tech ด้วยกฎหมาย และข้อบังคับด้านสาธารณสุขหลายฉบับถูกใช้มานานหลายสิบปี จนไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบันที่เทคโนโลยีและกรรมวิธีด้านการรักษาสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น กฎหมาย (รวมถึงมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์) ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลคนไข้ การทำ data exchange ระหว่างหน่วยงาน ความเป็นไปได้ในการสั่งยาออนไลน์และการส่งยาทางไปรษณีย์  การตรวจคนไข้ทางไกล ที่ปัจจุบันกิจกรรมหลายอย่างยังเข้าข่ายผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยและหาทางแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน 

นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนของสมาร์ทโฟนและสัญญาณอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของ  heath tech ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ นพ.โอฬาริก จาก รพ. อภัยภูเบศร ได้เคยเก็บข้อมูลผู้ป่วยวัยทองของโรงพยาบาลและพบว่ามีเพียง 1ใน 3 ที่มีสมาร์ทโฟนใช้และสามารถเชื่อมต่อสัญญาณ wifi ได้ นั่นหมายความว่าจะมีเพียงผู้ป่วยกลุ่มนี้เท่านั้นที่สามารถเข้าถึง health tech ที่โรงพยาบาลนำมาใช้

หลายคนอาจมองมันเป็นอุปสรรค มีคนได้ประโยชน์น้อย แต่ 1 ใน 3 แล้วไง มันดีกว่าไม่ช่วยอะไรเลยไหม อย่างน้อยมันทำให้ดีขึ้นในระดับหนึ่งและผมว่าสุดท้ายเราสังคมมันจะปรับพัฒนาไปเรื่อยๆ สู่จุดที่โครงสร้างพื้นฐานพวกนี้มันครอบคลุม นพ. โอฬาริกกล่าว

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาคือ คนไข้เองที่ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาด้วย ทั้งการปรับตัวในฐานะส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพว่าต้องดูแลตนเองให้มากขึ้น พึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ให้น้อยลง และการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีที่ใช้ไม่เป็นก็ต้องปรับตัวใช้ให้เป็น

เรื่อง เพ็ญนภา หงษ์ทอง 

 

จักร โกศัลยวัตร: ประเทศนี้ต้องการ Solution ด้าน Health care

วารสารผีเสื้อขยับปีก ฉบับเดือนมีนาคม 2562 – เรื่องจากปก หน้า 12 ดาว์นโหลดวารสาร