เมืองใหญ่หลายเมืองในโลกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาไปไกลในทางวัตถุกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากคนสองรุ่น คือผู้สูงอายุที่พบส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับความเหงาในบ้านพักของตนตามลำพัง และคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่ต้องย้ายจากเมืองเล็กหรือนอกเมืองเพื่อมาเรียนในเมืองใหญ่
คนกลุ่มแรกต้องการเพื่อน ที่สามารถช่วยดูแลในบางครั้ง คนกลุ่มหลังต้องการที่พักอาศัยราคาถูก รัฐบาลหลายประเทศได้จับคู่ความต้องการของคนทั้งสองกลุ่มภายใต้โครงการที่มีชื่อว่าการอยู่ร่วมบ้าน หรือ Home sharing initiatives ซึ่งหมายถึงการที่ผู้สูงอายุแบ่งปันห้องว่างในบ้านตัวเองให้กับนักศึกษาพักอาศัยโดยเก็บค่าเช่าราคาถูก แลกกับการที่นักศึกษาใช้เวลาว่างช่วยดูแลเจ้าของบ้าน ทำให้สามารถแก้ปัญหาการไม่มีคนดูแลผู้สูงอายุซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโลก และทำให้นักเรียนนักศึกษาได้ที่พักมีคุณภาพในราคาที่พวกเขาจ่ายได้
แนวคิดการอยู่ร่วมบ้านระหว่างคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่มาได้รับความนิยมและและแพร่เข้าสู่ยุโรปในทศวรรษ 1990 เมื่อโลกเริ่มประสบกับปัญหาประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันแนวคิดนี้กำลังได้รับความสนใจในกลุ่มประเทศเอเชีย แต่ก็ยังมาไม่ถึงประเทศไทย ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตตามลำพังในเมืองใหญ่ จะถูกความเหงาเข้าปกคลุมนำสู่การเกิดภาวะสมองฝ่อในผู้สูงอายุ และเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร โครงการการอยู่ร่วมบ้านจึงไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ แต่รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนคนดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายรัฐบาลหลายประเทศ เมืองที่ดำเนินโครงการอยู่ร่วมบ้านระหว่างคนสองวัยได้อย่างประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบของหลายๆ ที่คือ มิลาน แห่งอิตาลี
มิลานเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงเป็นอันดับต้นๆ ของอิตาลี และของโลก นักศึกษาจากต่างเมืองต้องประสบปัญหาที่พักอาศัยเมื่อเข้ามาเรียนในเมืองเศรษฐกิจแห่งนี้ โดยพบว่าในจำนวนนักศึกษากว่า 180,000 คนของมหาวิทยาลัยต่างๆในมิลาน มีถึงร้อยละ 72 มาจากต่างเมืองและต้องการที่พักที่มีคุณภาพ ขณะที่มีประชากรอายุสูงกว่า 65 ปี มากถึง 320,000 คน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามลำพังในบ้านหลังใหญ่ และต้องการคนดูแล องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ชื่อ MeglioMilano หรือ มิลานที่ดีกว่า ได้ริเริ่มโครงการที่ชื่อว่า เปิดบ้านให้นักศึกษา (Prendi a casa uno student) ในปี 2004
“ต้องการรับนักศึกษามาอยู่ด้วยไหม” คำถามนี้ถูกส่งกระจายไปยังบ้านพักของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว และมีห้องว่างอย่างน้อย 1 ห้อง ที่จะให้นักศึกษาซึ่งเป็นคนแปลกหน้าเข้ามาใช้ชีวิตได้ด้วยอีกคนหนึ่ง MeglioMilano ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสาน คัดเลือกทั้งนักศึกษาและผู้สูงอายุที่จะเข้าโครงการ และดำเนินการจับคู่คนสองวัยเพื่อให้ได้คู่ที่มีจริตที่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้มากที่สุด รวมถึงการเข้ามาจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันให้กับทั้งคู่ โดยอยู่บนฐานของการที่ทั้งสองคนให้ความเห็นชอบร่วมกัน
ข้อตกลงในเชิงการแลกเปลี่ยนของการอยู่ร่วมกันคือนักศึกษาจ่ายค่าที่พักเพียงเล็กน้อยให้กับเจ้าของบ้าน หรือบางกรณีอาจไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายเลย ค่าตอบแทนหลักๆ ที่นักศึกษาต้องจ่ายให้เจ้าของบ้านคือเวลา และการดูแลเอาใจใส่ ในการทำกิจวัตรประจำวัน หรือการใช้เวลาว่างในบ้านเป็นเพื่อนคุย ทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของบ้าน ทำสวน เดินเล่น ช้อปปิ้งด้วยกัน ตลอดสิบกว่าปีของการดำเนินโครงการ MeglioMilano สามารถจับคู่คนสองวัยได้มากกว่า 650 คู่ โดยมีอัตราความล้มเหลว คือไม่สามารถอยู่ร่วมบ้านกันได้ตลอดระยะเวลาที่ตกลงกัน เพียง 8 รายเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จคือการไม่สามารถปรับตัวเข้าหากัน สามารถยอมรับกฎระเบียบของบ้านรวมถึงกติกาในการทำความสะอาดบ้านร่วมกันได้
จะดีไม่น้อยหากผู้เกี่ยวข้องในการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จะศึกษาวิธีการและมาตรการทำงานของ home sharing initiatives ในประเทศต่างๆ ไม่เฉพาะในมิลาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย เพื่อเป็นหนึงในมาตรการรับมือการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
แหล่งข้อมูล/ ภาพ
https://www.weforum.org/agenda/2018/11/why-some-students-in-milan-are-moving-in-with-elderly-people/
https://respondingtogether.wikispiral.org/tiki-read_article.php?articleId=219